xs
xsm
sm
md
lg

รุกสร้างเครือข่าย“ธุรกิจเพื่อสังคม”อาเซียน กลไกใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาครัฐ-เอกชน-สังคม บูรณาการความร่วมมือไตรภาคี จัดตั้งเครือข่าย “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” ระดับอาเซียน กำหนด 4 บทบาทหลัก สร้างกลไกใหม่ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์เศรษฐกิจพร้อมแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ให้โอกาสคนจน คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสใช้ศักยภาพและอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการประชุมเพื่อระดมสมองกับสมาชิกอาเซียน โดยมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมนำเสนอและแสดงความคิดเห็นในการจัดตั้ง “เครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสังคมระดับอาเซียน” หรือ Network of Expert on Inclusive Entrepreneurship for ASEAN ซึ่งทุกฝ่ายสรุปเห็นชอบ โดยเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงประกอบการของคนยากจน ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

“กลุ่มประเทศอาเซียนมีคนพิการกว่า 56 ล้านคน และคนจนกว่า 100 ล้านคน และมีแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่การขยายตัวของความเหลื่อมล้ำทางสังคมในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีอัตราเฉลี่ยสูงกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะประเทศไทยและฟิลิปปินส์ สะท้อนถึงภาพรวมของการขาดโอกาสในการศึกษาและเข้าถึงการมีงานทำ จากสถิติในปี 2547 ประเทศไทยมีคนจน จำนวน 7,500,000 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากร ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 1,230 บาทต่อคน“

“ส่วนผู้พิการมีจำนวน 1,900,000 คน กว่า 90%ขาดการศึกษา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเป็นวัยแรงงานที่ไม่มีงานทำกว่า 300,000 คน คนพิการส่วนใหญ่ที่มีงานทำอยู่ในภาคการเกษตร โดยเฉลี่ยรายได้ต่ำกว่าคนปกติถึง 3 เท่า มีเพียง 12,982 คนที่มีรายได้อยู่ในระดับสูงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น การจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้เป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงนับเป็นนวัตกรรมการเชื่อมโยงความร่วมมือกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องสู่การสร้างผลิตผลและผลสัมฤทธิ์ทางสังคม” ศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว

ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ ประธานกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป ในฐานะตัวแทนประเทศไทยจากภาคเอกชน/ธุรกิจเพื่อสังคม (Thailand Delegate)กล่าวว่า เครือข่ายนี้จะมีบทบาท 4 ด้านหลักคือ 1. เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Platform for Networking and Exchange) 2. เป็นผู้แทนและผู้สนับสนุนเชิงนโยบายในการพัฒนาทักษะเชิงประกอบการสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส (Effective Advocate of Inclusive Entrepreneurship Capacity Building) 3. พัฒนาเสริมสร้างทักษะการประกอบการสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส(Capacity Building) และ4. รวบรวมฐานข้อมูลรูปแบบการประกอบการสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในบริบทของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Knowledge Centre on Inclusive Entrepreneurship)

“เครือข่ายนี้จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างกลไกการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนเองในการสนับสนุนและเชื่อมโยงเข้าสู่การดำเนินธุรกิจอย่างบูรณาการและมีความต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นจุดเชื่อมสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย”

นภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กล่าวว่า ในฐานะผู้ขับเคลื่อน จะนำเสนอแผนการจัดตั้งเครือข่ายฯ ที่ได้รับการพิจารณาร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน (SOMSWD ASEAN Focal Point) เข้าสู่การประชุมคณะทำงาน Senior Officials Meeting on Social Welfare and Development (SOMSWD) ครั้งที่ 9 ณ ประเทศบรูไน ประมาณเดือนกันยายน 2556 นี้ เพื่ออนุมัติและจัดตั้งในปี 2557 อย่างเป็นทางการ โดยในแผนการดำเนินงานระดับประเทศนั้น ไทยได้ดำเนินการโครงการต่อเนื่องในการเชื่อมโยงเครือข่าย ได้แก่ การศึกษาวิจัยกรณีศึกษากิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภูมิภาคในลำดับถัดไป

ขนิษฐา กมลวัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กล่าวว่าในมุมมองของหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านสังคมเชื่อว่ากิจการเพื่อสังคม (Social Entreprise : SE) จะช่วยในเรื่องการทำให้คนได้รับการยอมรับและมีความเสมอภาคในสังคม ช่วยให้คนสามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เมื่อเชื่อว่าเรื่องของ SE สามารถเพิ่มศักยภาพคนได้ จะต้องพยายามรักษาแนวคิดนี้ต่อไป และการเตรียมคนเพื่อเข้าสู่ SE มีความสำคัญ เพราะเมื่อผลักเข้าสู่ระบบธุรกิจจะชักช้าไม่ได้ เพราะพลาดแล้วจะเสียหาย

Mr. Andrew Croft, Chief Executive ผู้แทนกิจการเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษ (Social Enterprise UK) กล่าวถึงทิศทางพัฒนาการของ “กิจการเพื่อสังคม” ในประเทศอังกฤษที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ นับเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจใหม่ที่พิสูจน์ถึงแนวคิดการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพราะกว่า 68,000 กิจการเพื่อสังคม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5 % ของ GDP โดยกว่า 800,000 แรงงานที่เกิดขึ้นภายใต้รูปแบบธุรกิจใหม่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมและสะท้อนคุณค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ความสำเร็จนี้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลอังกฤษตั้งแต่สมัยโทนี่ แบลร์ จนถึงยุคเดวิด เคเมรอน ก็ยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยแนวคิดเชิงผู้ประกอบการ
กำลังโหลดความคิดเห็น