พบเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศเกิดใหม่กับประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ผลการสำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่า ในภูมิภาคนี้ ประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มในการจ่ายทิปในร้านอาหารมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
ผลการสำรวจดังกล่าวได้มาจากการทำวิจัยใน 27 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ทั้งสิ้น 7,678 คน จาก 16 ประเทศ โดยคำถามจะเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของพวกเขา ทั้งนี้ ผลสำรวจและรายงานประกอบต่างๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับผลประกอบการทางการเงินของมาสเตอร์การ์ดทั้งสิ้น
ผลสำรวจจากมาสเตอร์การ์ดล่าสุด เกี่ยวกับความคาดหวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้านการรับประทานอาหาร พบว่าผู้บริโภคจากบังคลาเทศ (88%) ไทย (79%) และฟิลิปปินส์ (77%) ติดอันดับนักทิปมากที่สุดในภูมิภาค โดยประเทศไทยก็เคยคว้าตำแหน่งสูงสุดเรื่องความใจกว้างในการให้ทิปนี้มาแล้วจากการสำรวจเดียวกันเมื่อครั้งก่อน
นอกจากนี้ ยังพบอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว สำหรับการให้ทิปในหมู่คนจากประเทศเกิดใหม่ในเอเชียแปซิฟิกนี้ โดยประเทศที่พบอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่อินโดนีเซีย (เพิ่มขึ้น 10%) และอินเดีย (เพิ่มขึ้น 4%)
ส่วนประเทศที่ผู้บริโภคไม่ยอมให้เงินรั่วไหลออกจากกระเป๋าสตางค์ได้ง่ายๆ และระมัดระวังในเรื่องของการให้ทิปนั้น ประกอบด้วย ฮ่องกง (ลดลง 12%) สิงคโปร์ (ลดลง 11%) และมาเลเซีย (ลดลง 11%)
นอกจากนี้ ผู้บริโภคกว่า 1 ใน 3 มักเข้าไปดูรีวิวออนไลน์ก่อนการตัดสินใจไปทานอาหารนอกบ้าน โดยประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียอย่างประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ประเทศเหล่านี้ติดอันดับขาประจำที่พึ่งพารีวิวออนไลน์มากที่สุดเมื่อต้องเลือกร้านอาหาร ส่วนผู้บริโภคจากประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และบังคลาเทศนั้น ยังคงอาศัยคำแนะนำจากเพื่อนและครอบครัวอยู่
เป็นที่น่าสนใจว่า หลังการทานอาหารผู้บริโภคชาวจีน มาเลเซีย และไทย มักโพสต์ข้อความรีวิวออนไลน์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์คมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทาง Facebook และ Twitter โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมการสัมภาษณ์ของการสำรวจครั้งนี้เปิดเผยว่า พวกเขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การทานอาหารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นประจำ
สิงคโปร์ : นักใช้จ่ายตัวยง
เมื่อดูในด้านการใช้จ่ายพบว่า ชาวสิงคโปร์มีสถิติการใช้จ่ายด้านรับประทานอาหารสูงที่สุดในภูมิภาค เฉลี่ยเดือนละ 262 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 7,860 บาทต่อเดือน) โดยมีชาวญี่ปุ่นและชาวจีนตามมาติดๆ ด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 225 ดอลลาร์สหรัฐฯ (6,750 บาท) และ 203 ดอลลาร์สหรัฐฯ (6,090 บาท) ตามลำดับ
ส่วนประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายทางด้านการรับประทานอาหารอยู่ที่ 129 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,870 บาทต่อเดือน ในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคในอินเดียและอินโดนีเซียมีการใช้จ่ายน้อยที่สุดในภูมิภาค คือใช้จ่ายเพียงแค่ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ (510 บาท) และ 19 ดอลลาร์สหรัฐฯ (570 บาท) ตามลำดับ หรือใช้จ่ายเพียงแค่ร้อยละ 3 และร้อยละ 5 ของรายได้ครัวเรือนในแต่ละเดือน
จอร์เจ็ท แทน หัวหน้าฝ่ายการสื่อสาร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มาสเตอร์การ์ดเวิลด์วายด์ กล่าวว่า “เราพบความแตกต่างอย่างมากในแต่ละวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการให้ทิปที่ต่างกัน ซึ่งน่าสนใจว่าความแตกต่างเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาให้เห็นในผลการวิจัยอย่างไร และที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการเชื่อมโยงระหว่างการสื่อสารทางออนไลน์และความหลงใหลในอาหารของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก”
“บล็อกเกี่ยวกับอาหารก็มีบทบาทและมีอิทธิพลมากขึ้นสำหรับอาหารเอเชียเอง เพราะช่วยให้ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้ลองชิมอาหารรสชาติยอดเยี่ยม ที่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ไม่พ้นสายตาเหล่านักชิมไฮเทคไปได้แน่นอน” จอร์เจ็ท กล่าวเสริม
การสำรวจยังพบอีกว่า ผู้บริโภคยังคงนิยมเข้าไปเช็คทางออนไลน์เพื่อดูโปรโมชั่นต่างๆ ของบัตรเครดิต โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน ที่ผู้ให้สัมภาษณ์กว่าครึ่งตอบว่าได้ทำการเช็คโปรโมชั่นบัตรเครดิตทางออนไลน์เป็นประจำ