Q: อยากให้อาจารย์แนะนำว่าเราจะมีวิธีการบริหารลูกน้องที่มีอายุมากกว่าได้อย่างไร
A: สิ่งแรกต้องเข้าใจว่า การที่เราเป็นผู้บริหารอายุน้อยแต่มีลูกน้องอายุมากกว่า เป็นสิ่งที่ควรภูมิใจไม่ใช่สิ่งที่ควรหนักใจ ในทางตรงกันข้ามผู้ที่น่าจะหนักใจควรเป็นลูกน้องของเรามากกว่า หัวใจสำคัญในการบริหารจัดการทีมงานที่มีอายุมากกว่าคือ "จงให้เกียรติแต่อย่าให้อภิสิทธิ์" ซึ่งสองคำนี้คนไทยส่วนใหญ่แยกไม่ออกว่าแบบไหนคือ "ให้เกียรติ" และ ทำอย่างไรเรียกว่า "ให้อภิสิทธิ์" ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรากำลังยืนต่อคิวตักอาหารอยู่ พอดีนายใหญ่เดินมา เราเลยให้ท่านแทรกข้างหน้าเรา จะได้ไม่ต้องรอนาน แบบนี้เรียกว่า "ให้เกียรติ" หรือ "ให้อภิสิทธิ์" หลายคนสับสน !
ในการบริหารจัดการ การให้เกียรติทำได้ง่ายๆ 2-3 วิธี
1. เรียกเขาว่า "พี่" ไม่ใช่ "คุณ" ... ประเด็นนี้ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในสังคมไทย "พี่" ดูสนิทสนมและให้ความเคารพมากกว่า "คุณ"
2. หลีกเลี่ยงการสั่งงานต่อหน้าลูกน้องคนอื่นๆ ... ทุกคนมีศักดิ์ศรี การมีหัวหน้าเด็กกว่าก็น่าน้อยใจอยู่แล้ว หากหัวหน้ายังวางท่า แสดงอำนาจให้เห็นว่า "ฉันเป็นหัวหน้าแก" ยิ่งทำให้โอกาสในการสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีและทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน กลายเป็นเรื่องยากไป
3. เดินไปหา ดีกว่า เรียกให้มาหา ... ปกติกับผู้ใหญ่ที่เราให้เกียรติ เราคงไม่เรียกท่านมาหา เราคงไปหาท่าน จริงไหม ? ... เรื่องนี้ก็ไม่ต่างกัน จริงอยู่หัวหน้ามีศักดิ์และสิทธิเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่จะเชิญลูกน้องมาพบเพื่อพูดคุย สั่งการ หรือตามงาน แต่หากเราเป็นคนไปหาเขา จะดูให้เกียรติกว่าไหม อย่างน้อยที่สุดถ้าจำเป็นจริงๆ เดินไปเชิญ โทรไปบอก ดีกว่าตะโกนเรียก ... เห็นด้วยหรือเปล่า ?
แต่อย่า "ให้อภิสิทธิ์" หมายความว่า หากเรากำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ขึ้นมาและต้องการให้ทุกๆ คนปฏิบัติตาม เช่น การมาทำงานตรงเวลา การเข้าประชุมโดยไม่ต้องให้ตาม การส่งงานตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น หากลูกน้องผู้อาวุโสคนนี้ไม่ทำ เขาก็ไม่ควรได้รับอภิสิทธิ์ในการไม่ต้องถูกว่ากล่าวตักเตือน บางทีหัวหน้าหลายคนรู้สึกลำบากใจที่จะพูดตรงตรงกับลูกน้องที่มีอายุมากกว่า เพียงเพราะรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ใหญ่เลยเกรงใจ สุดท้ายกลายเป็นการให้อภิสิทธิ์กับคนๆ นั้นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ