xs
xsm
sm
md
lg

จัดมหกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี เผยต้องใช้งบรักษาปีละกว่า 13,500 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - จัดมหกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เฉลี่ยปีละ 20,000 ราย รัฐต้องใช้จ่ายด้านสุขภาพในการดูแลปีละกว่า 13,500 ล้านบาท


วันนี้ (16 ก.ค.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) และภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี “ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม่ดับ ไม่ตายจากมะเร็งท่อน้ำดี”

การจัดงานดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา รู้จักป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้ปลอดภัยจากโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรม ภายในงานมีบริการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ โดยใช้ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV ATK ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 ราย และให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 600 ราย ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีประวัติเสี่ยง คือเคยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เคยกินยาถ่ายพยาธิใบไม้ตับ และเคยกินปลาน้ำจืดแบบสุกๆ ดิบๆ




รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเฉลี่ยปีละ 20,000 ราย และในจำนวนผู้ป่วย 20,000 รายนี้พบว่าในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จะเสียชีวิตไปกว่า 70% และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอีกในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เฉลี่ยเสียชีวิตปีละ 20,000 ราย โดยจากสถิติที่มีการรวบรวมเอาไว้

ยังพบว่าช่วงอายุของผู้ที่เริ่มป่วยมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยมากที่สุดคืออายุประมาณ 55 ปี ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจและส่งผลกระทบต่อทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ความน่ากลัวของโรคนี้คือ เมื่อติดพยาธิแล้วจะไม่ได้เสียชีวิตในทันที แต่จะใช้เวลาก่อมะเร็ง โดยพยาธิจะเข้าไปอยู่ในท่อน้ำดี เกิดการอักเสบเรื้อรังอยู่ประมาณ 10-15 ปี ก่อนจะกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งหากตอนเป็นพยาธิแล้วมีการกินยาและกำจัดพยาธิก็จะช่วยป้องกันการเป็นมะเร็ง




แต่เมื่อไหร่ที่ทิ้งพยาธิเอาไว้จนเป็นมะเร็ง ไปสู่ระยะที่จะต้องผ่าตัดรักษา จะต้องมีค่าผ่าตัดรักษาอย่างต่ำ 3-4 แสนบาทต่อเคส (เฉพาะเคสที่ผ่าตัดได้) ฉะนั้นในแต่ละปีประเทศไทยจะใช้ค่าใช้จ่ายดูแลคนไข้มะเร็งท่อน้ำดีกว่า 13,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาพรวมปัจจุบันถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา เช่นเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมาภาคอีสานที่มีการตรวจหาพยาธิผ่านอุจจาระที่มีความไวไม่มากพอ ยังพบการติดพยาธิอยู่กว่า 50%

แต่ปัจจุบันพบว่ามีอยู่เพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งความหนาแน่นของพยาธิในร่างกายมนุษย์ไม่ได้มีความหนาแน่นเหมือนในอดีต แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ตรวจไม่เจอจะไม่เป็น เพราะในบางกรณีตรวจแล้วไม่พบพยาธิ แต่ก็อาจจะติดเชื้อ ซึ่งคนเหล่านี้จะกลายไปเป็นผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในจำนวน 20,000 คนในแต่ละปี


กำลังโหลดความคิดเห็น