ลำปาง - ชาวสบป้าดไล่ไทม์ไลน์รุมแฉ..งบสนับสนุนโครงการจากกองทุนฯ โรงไฟฟ้าแม่เมาะส่อทุจริตชัด ทั้งได้ของไม่ครบ ถูกหักหัวคิว บางโครงการเงินงอกเพิ่ม พอชาวบ้านถาม-ลงมติขอคืนของแจก กลับมีทั้งคืนโครงการแทน บางครั้งหอบเงินสด-ของมาแจกเพิ่ม ชี้บางโครงการกรรมการหักหัวคิวแบบเบิกปุ๊บหักปั๊บถึงหน้าเคาน์เตอร์แบงก์
กรณีอดีตนายก อบต.คนดังแม่เมาะ พร้อมตัวแทนชาวสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ออกมาแฉงบกองทุนรอบโรงไฟฟ้าฯ สนับสนุนโครงการลงหมู่บ้านส่อทุจริตชัด ระบุ 4 โครงการ งบรวม 2.5 ล้าน แต่ได้ของไม่ครบ-ถูกหักหัวคิวไม่พอ บางโครงการเงินปริศนางอกเพิ่มซ้ำอีกทั้งที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ยันขอเดินหน้าฟ้องกราวรูดผู้เกี่ยวข้องยันตำรวจที่เคยสั่งไม่ฟ้องคดี กระทั่ง ป.ป.ช.สั่งให้สอบเพิ่มแล้ว เนื่องจากมี จนท.รัฐเอี่ยวด้วย
ชาวสบป้าด แม่เมาะ จ.ลำปาง ไล่ไทม์ไลน์ที่มาที่ไปการใช้เงินงบประมาณกองทุนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ส่อทุจริต นำมาสู่การฟ้องร้องคดีดังกล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจาก 1 พ.ค. 67 มีประกาศเสียงตามสายหมู่บ้านให้ชาวบ้านสบป้าด ม.1 ไปลงชื่อ รับการสนับสนุนโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร จำนวน 3 อาชีพ เป็นเงิน 500,000 บาท วันที่ 5 พ.ค. 67 กทบ.ส่งมอบสิ่งของตามโครงการ ได้แก่ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าว-ข้าวโพด ให้ชาวบ้าน โดยชาวบ้านเข้าใจว่างบประมาณ 3 โครงการฯ เป็นเงิน 500,000 บาท ตามที่ คพรต.ได้แจ้งไว้เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67
กระทั่งวันดังกล่าวชาวบ้านถึงพบว่างบประมาณจริงคือ 1,500,000 บาท รวม 3 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมอาชีพการปลูกข้าวโพด 500,000 บาท, โครงการส่งเสริมอาชีพการเกษตรปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน 500,000 บาท, โครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวเพื่อการเกษตร 500,000 บาท
แต่สิ่งที่ได้รับคือ 500,000 บาทเท่านั้น จึงได้มีการสอบถามเงินที่หายไปอีก 1 ล้านบาท และไม่ยอมรับสิ่งของในวันดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่โปร่งใสและขอให้มีการประชุมชี้แจง
วันที่ 7 พ.ค. 67 มีการเปิดประชุมชี้แจง โดยมี จนท.ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม แต่ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า..เงินเพิ่มขึ้นมาจาก 500,000 บาทเป็น 1.5 ล้านได้อย่างไร และเงิน 1 ล้านหายไปไหน!?
ที่ประชุมชาวบ้านมีมติไม่รับสิ่งของ แต่ให้ กทบ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ให้ครบตามจำนวนเงิน 1,500,000 บาท โดยอนุญาตให้มีการหักค่าใช้ในการดำเนินงานตามความเหมาะสม คณะกรรมการกองทุนฯ ขอนำเรื่องเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 พ.ค. 67
พอถึงวันที่ 15 พ.ค. 67 ชาวบ้านได้สอบถามผลการประชุม คณะกรรมการกองทุนฯ ได้แจ้งว่า ไม่ได้นำเรื่องบรรจุในวาระการประชุมแต่อย่างใด และทาง จนท.ธุรการได้รับหนังสือจากประธาน กทบ.บ้านสบป้าด เรื่องขอคืนโครงการทั้ง 3 โครงการ
วันที่ 20 พ.ค. 67 ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือถึงนายอำเภอแม่เมาะเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เนื่องจากการยื่นขอคืนโครงการไม่ได้ผ่านมติที่ประชุมชาวบ้าน และชาวบ้านไม่ประสงค์คืนโครงการ แต่ต้องการให้ กทบ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่
ช่วงเย็นวันเดียวกัน (20 พ.ค. 67) คณะกรรมการกองทุนฯ ได้เปิดประชุมร่วมกันกับชาวบ้านหาทางออกร่วมกัน แต่ประธาน กทบ.ยืนยันคืนโครงการ โดยทางร้านค้าซึ่งเป็นคู่สัญญากับทาง กทบ.จะนำเงินมาคืนเพื่อส่งคืนกองทุนฯ เต็มจำนวน 1.5 ล้านบาทต่อไป จึงทำให้ในที่ประชุมเกิดความวุ่นวายขึ้น
ซึ่งที่ประชุมมีติให้จัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยไม่คืนโครงการ เหรัญญิก กทบ.แจ้งว่าขอยกเลิกมติที่ประชุม และยึดตามมติประธาน กทบ.ให้คืนโครงการ
วันที่ 23 พ.ค. 67 ประธาน กทบ.บ้านสบป้าดนำเงิน 1.5 ล้านบาทคืนโครงการ กพพ. แม้ชาวบ้านจะมีมติไม่ยินยอมก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปห้วงปี 2561-2566 ยังพบเงื่อนงำการใช้เงินงบประมาณกองทุนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อย่างโครงการเลี้ยงปลาดุก 1 โครงการ ยอดเงิน 500,000 บาท ชาวบ้านได้พันธุ์ปลาและอาหารปลาไม่ครบตามจำนวน..
จากเดิมตามโครงการนี้ชาวบ้านจะต้องได้รับพันธุ์ปลา 400 ตัว/คน, อาหารปลาดุกเล็ก 3 กระสอบ/คน, อาหารปลาดุกกลาง 3 กระสอบ/คน, อาหารปลาดุกใหญ่ 3 กระสอบ/คน แต่วันรับมอบสิ่งของ ชาวบ้านได้รับไม่ครบจริง โดยประธานกองทุนฯ แจงว่าเงินที่หายไปเพราะต้องหักรายได้เข้ากองทุน 5% เป็นเงิน 20,000 บาท และ VAT7% = 35,000 บาท
ครั้งนั้นชาวบ้านจึงมีมติไม่รับสิ่งของ ประธานกองทุนฯ ได้เลื่อนวันรับออกไปอีก 7 วัน และเสนอว่าจะให้พันธุ์ปลา 200 ตัว/คน, อาหารปลาดุกเล็ก 1 กระสอบ/คน, อาหารปลาดุกกลาง 1 กระสอบ/คน, อาหารปลาดุกใหญ่ 1 กระสอบ/คน พร้อมเงินสดคนละ 3,000 บาท
และเมื่อถึงวันนัดรับสิ่งของ ประธานกองทุนฯ ได้ให้ตัวแทนชาวบ้านไปรับเงินจำนวน 192,000 บาท เพื่อนำมาจ่ายชาวบ้านคนละ 3,000 บาท แต่หลังจากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้รวมยอดเงินและสิ่งของที่ชาวบ้านได้รับแล้ว ปรากฏว่า..มีส่วนต่างที่หายไปอีกกว่าหนึ่งแสนบาท จึงได้สอบถามประธานกองทุนฯ
กระทั่งต่อมา ในวันรับสิ่งของ..ร้านค้าที่นำสินค้ามาส่งมอบได้นำเงินสดมาคืนให้ตัวแทนชาวบ้านเป็นเงิน 118,000 บาท โดยบอกว่าเป็นเงินส่วนต่างจากโครงการที่ทางร้านได้รับ แต่ทางร้านไม่ขอรับจึงขอนำมาคืนให้ชาวบ้าน ตัวแทนชาวบ้านจึงจ่ายเงินให้กับสมาชิกเป็นรอบที่ 2 คนละ 1,850 บาท
นอกจากนี้ยังพบว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ได้เรียกหัวคิวเงินทอนจากโครงการต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแบบเบิกปุ๊บหักปั๊บ รวม 10 โครงการ โครงการละ 100,000 บาท รวม 1 ล้านบาท ส่วนอีก 1 โครงการ เจ้าของโครงการไม่ยอมจ่ายเพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง