xs
xsm
sm
md
lg

"ดีเอสไอ" เรียกสอบพยานปมหักหัวคิวแรงงานกัมพูชา 2,500 บ. จ่อเอาผิด "ฟอกเงิน-อั้งยี่"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษกดีเอสไอ เผย เรียกพยานทุกกลุ่มให้ถ้อยคำ กรณีหักค่าหัวคิวแรงงานกัมพูชา 2,500 บาท โยงเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชา เงินสะพัดหลักร้อยล้านบาท เข้าข่าย "ฟอกเงิน-อั้งยี่"

จากกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่ตรวจค้น 4 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เป็นผู้ดำเนินการรับต่อใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานสัญชาติกัมพูชา ย่านคลองสามวา กรุงเทพฯ เพื่อเก็บพยานหลักฐาน ขบวนการรีดหัวคิวแรงงาน รายละ 2,500 บาท นำไปฟอกเงินผ่านเจ้าหน้าที่กัมพูชา โดยพบความเกี่ยวข้องระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทย-กัมพูชา นั้น

ล่าสุด วันนี้ (10 ก.ค.) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในชั้นสืบสวน เป็นสำนวนสืบสวนเลขที่ 27/2568 อยู่ระหว่างการทยอยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำเพื่อหาข้อเท็จจริง ประกอบเอกสารจากการตรวจค้นบริษัท เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงประกอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุแรงงานต่างด้าวหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะมีเงินที่เกี่ยวข้องหลักร้อยล้านบาท ส่วนจะเชิญบริษัทประกอบธุรกิจจัดหาแรงงานต่างด้าว หรือบัญชีม้า หรือเจ้าหน้าที่รัฐ มาให้ถ้อยคำด้วยหรือไม่ อยู่ในดุลยพินิจของคณะพนักงานสืบสวน

พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า คณะพนักงานสืบสวนมีประเด็นต้องพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีการเพื่อกระทำความผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าพบว่าการกระทำเข้าลักษณะดังกล่าว จะเข้าข่ายข้อหา "อั้งยี่" ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานของกฎหมายฟอกเงิน และหากพบว่ามีเส้นทางการเงินมาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกจะเข้าข้อหา "ฟอกเงิน" ด้วย และอยู่ในอำนาจของดีเอสไอ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 สามารถทำคดีได้ ซึ่งกำลังเร่งสืบสวนในประเด็นนี้เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจน

"ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งสืบสวนคดีว่าขบวนการใช้วิธีปกปิดลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ ถ้ามีก็จะเห็นโครงข่ายออกมาและเส้นทางการเงิน แต่ต้องตรวจสอบให้รอบคอบ อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนการหักค่าหัวคิวแรงงานยังพบเพียงแรงงานกัมพูชาประเทศเดียว ส่วนประเทศอื่นยังไม่มีข้อมูล" พ.ต.ต.วรณัน กล่าว


ด้าน แหล่งข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คณะพนักงานสืบสวนได้เร่งสอบสวนปากคำพยาน ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้จ่ายเงิน 2,500 บาท ให้กับบริษัทนายหน้าจัดหางาน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานบางส่วน อย่างไรก็ดี ในส่วนคำให้การของพยานผู้เสียหายรายสำคัญล้วนยอมรับตรงกันว่า มีการกล่าวอ้างว่าแรงงานต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการเพิ่มเติมสำหรับการขอต่อใบอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรผ่านระบบออนไลน์ โดยมีการขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินจำนวนนี้ จะไม่สามารถบันทึกข้อมูลขอต่อใบอนุญาตทำงานต่อได้ หรือ การยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List)

”หลังจาก ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนเรื่องการหักหัวคิวแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์ต่อใบอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร จะต้องชำระค่าบริการเพิ่มเติม 2,500 บาท เพื่อดำเนินการที่ชื่อค้างอยู่ในระบบ ล่าสุดกลับได้รับการอนุมัติต่อใบอนุญาตทำงานเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท เหมือนอย่างที่นายหน้าบริษัทจัดหางานกล่าวอ้าง“

แหล่งข่าวดีเอสไอ ระบุด้วยว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีความเคลื่อนไหวสำคัญ คือ การสอบสวนปากคำกรรมการบริษัทเอกชน ย่านคลองสามวา กรุงเทพฯ ซึ่งให้บริการรับปรึกษาปัญหาเอกสารครบวงจร เพื่อชี้แจงถึงแผนการดำเนินธุรกิจในฐานะนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ว่าที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการอย่างไรบ้าง รายละเอียดเงินค่าให้บริการ 2,500 บาท ที่แรงงานต่างด้าวต้องจ่ายหรือไม่ นำไปขยายในส่วนรายละเอียดข้อเท็จจริงอื่นในสำนวนได้ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบได้

รายงานจากคณะพนักงานสืบสวน เผยอีกว่า ส่วนในกรณีของเจ้าของบัญชีม้าต่างด้าว (สัญชาติกัมพูชา เมียนมา) ที่มีการโอนเงินจำนวนหลายครั้งแบ่งโอนไปยังบัญชีธนาคารต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาหลายราย รวมจำนวนเงินร้อยล้านบาท ขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางการเงินในภาพรวมทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงทางการเงินและสัมพันธ์บุคคลต่างๆ รวมถึงบุคคลและนิติบุคคลของไทยที่รับโอนเงินจากบัญชีของเจ้าหน้าที่กัมพูชาด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น