xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการลดจ้างงานแน่หลังปรับค่าแรง 400 ทั่วประเทศ แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์สูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลย - ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบนไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ปัจจัยแวดล้อมแต่ละพื้นที่ต่างกัน เชื่อหลังปรับค่าแรงข้าวของราคาแพงขึ้นและกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือแรงงานต่างด้าว ส่วนผู้ประกอบการต้องเอาตัวรอดด้วยการลดการจ้างงาน ลดการลงทุน

นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้ากลุ่มภาคอีสานตอนบน 1
จากกรณีที่รัฐบาล นางแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยใช้เกณฑ์สถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไป ซึ่งหลายฝ่ายต่างจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังปรับค่าแรงครั้งนี้

นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้ากลุ่มภาคอีสานตอนบน 1 (อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ) เจ้าของธุรกิจก่อสร้างและห้างบิ๊กโฮม จ.เลย ระบุว่า ในมุมมองของภาคเอกชนเราเห็นด้วยให้ขึ้นค่าแรง แต่อยากให้มีการพิจารณาเรื่องของการปรับค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาทให้ดูตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากสาธารณูปโภค หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของในแต่ละจังหวัดมันไม่เท่ากัน อย่างเช่น ใน กทม. ภูเก็ต ในปัจจุบันค่าแรงได้เกิน 400 บาทไปแล้ว ในขณะจังหวัดเล็กๆ อย่างกลุ่มจังหวัดที่ตนดูแล คือกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไกลปืนเที่ยง บางจังหวัดรถไฟก็ไปไม่ถึง เครื่องบินก็ไม่มี ถามว่าโรงงานเขาจะมาตั้งทำไม ในเมื่อมีค่าแรงเท่ากัน เขาก็ไปตั้งใน กทม.ไม่ดีกว่าหรือ


หากถ้าจะมาตั้งโรงงานในภาคอีสานตอนบน เขาควรที่จะได้รับการสนับสนุนค่าแรงที่มีความแตกต่างกันบ้าง ถ้าถามค่าแรงควรปรับขึ้นมั้ย ควรปรับขึ้นแต่ควรจะทยอยปรับขึ้น ตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด

โดยเฉพาะในแต่ละจังหวัดเขามีคณะกรรมการไตรภาคีประกอบไปด้วยตัวแทนของลูกจ้าง 5 คน ตัวแทนของนายจ้าง 5 คน และตัวแทนของภาครัฐ 5 คน ซึ่งในการประชุม 5 จังหวัดอีสานตอนบน ต่างมีความคิดเห็นออกมาแล้วการปรับขึ้นค่าแรงในปลายปีนี้ และข้อตกลงจะมีการขึ้นค่าแรงเพิ่มอีก 5 บาทต่อวัน ซึ่งตัวแทนลูกจ้างก็เห็นด้วย

“แต่หากขึ้นทีเดียว ก็จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และสินค้าทุกอย่างก็เรียงหน้าปรับราคาขึ้น ผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ หากมองในมุมของทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อของขึ้นราคา เงินก็เฟ้อ เมื่อรัฐประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สินค้าทุกอย่างปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน” นายณัฐพลกล่าว และว่า


ในส่วนของนายจ้างเองก็อาจมีการปรับตัว และได้มีการพูดคุยกันอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการ หากปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้ ผู้ประกอบการจะเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ และหันมาใช้เครื่องจักรแทนคนมากขึ้น ลดการใช้แรงงาน เพราะทนแบกภาระต้นทุนสูงไม่ไหว

นายณัฐพลกล่าวอีกว่า กรณีของลูกจ้างหรือแรงงานไร้ฝีมือเองก็จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทั้งที่แรงงานพวกนี้ประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มโดยใช่เหตุ นายจ้างก็ต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคอยู่ดี รัฐบาลควรจะต้องหันมามองว่าทำยังไงที่จะเพิ่มขีดความสามารถ หรือเพิ่มศักยภาพแรงงาน ไม่ใช่ไปทำมติเดียวคือเพิ่มค่าแรงอย่างเดียว ถ้ายังทำแบบนี้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างแน่นอน ทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และลูกจ้างเองด้วยเช่นกัน ผลกระทบจะเกิดโดยตรงต่อธุรกิจ


เมื่อบริษัทจ้างงานไม่ไหว ก็ต้องเลิกจ้าง ลดการลงทุน นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ของรัฐบาล แรงงานไม่มีฝีมือที่ได้อานิสงส์มากสุด โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานมีฝีมือค่าแรงส่วนใหญ่เกินค่าแรงขั้นต่ำกันอยู่แล้ว และรัฐควรจะมองการปรับค่าแรงต้องปรับตามแต่เศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ ไม่ใช่ว่าปรับขึ้นค่าแรงเท่ากัน และพร้อมกันทั้งประเทศแบบนี้ สถานการณ์มีแต่จะแย่ลง


กำลังโหลดความคิดเห็น