ตราด - ชาวเกาะช้างหนุนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะ ชี้ลดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต ส่งเสริมการศึกษาประชาชน เช่นเดียวกับกลุ่มทุนใหญ่ที่เร่งให้ กทพ. ดำเนินการให้สำเร็จเร็ววัน บอกช่วยเพิ่มศักยภาพแข่งขันด้านการท่องเที่ยว
จากกรณีที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เกี่ยวกับงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมทับทิมสยาม โรงแรมเอวาด้า อ.เมืองตราด จังหวัดตราด
โดยมี นายอาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. และนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการ ได้แก่ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการดำเนินงาน แผนดำเนินงาน และแนวคิดการพัฒนาของโครงการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่ต้น ผลปรากฏว่าได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ จ.ตราด เป็นอย่างมากนั้น
วันนี้ (3 ก.ย.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นครั้งที่ 2 ที่โรงแรมอัยยะปุระ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เพื่อถามความเห็นคนในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมี นายนริศ ปาลวงศ์ ณ อยุธยา นายอำเภอเกาะช้าง ซึ่งตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวกว่า 250 คนเข้าร่วม
และมี นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. นายชาญวิทย์ อาจสมิติ ผู้จัดการโครงการ และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัท ร่วมรับฟังความคิดเห็นของชาวเกาะช้าง
โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการดำเนินการก่อสร้างโครงการ และไม่สนใจว่าจะสร้างบริเวณไหน เพียงแต่ขอให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง และเป็นไปตามความต้องการของชาวตราดและชาวเกาะช้าง เนื่องจากที่ผ่านมาชาวเกาะช้าง ขาดโอกาสด้านการศึกษา และการสาธารณสุขที่ไม่สามารถเดินทางไปรักษาได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีอาการเจ็บป่วย
นายพรชัย เขมะพรรค์พงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด เผยถึงปัญหาด้านการท่องเที่ยวของ จ.ตราด ในขณะนี้ว่ามาจากสัญญาณไฟจราจรที่มีมากจนเกินไป จนทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อลงเรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะช้าง ต้องเสียเวลาการเดินทางในพื้นที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นหากอยู่ในช่วงเทศกาล
“ขณะที่สนามบินเป็นของเอกชนที่ยังไม่มีการลงทุน ทำให้สายการบินพาณิชย์ขนาดใหญ่มาลงได้ ส่วนทางรถไฟรางคู่ไม่มี ซึ่งหากมีการสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง จะเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจท่องเที่ยวได้มากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ทุกเวลา ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ทางธุรกิจที่เพิ่มได้อีกมาก
เช่นเดียวกับ นายสารพล ประศาสตร์ศิลป์ นายกสมาคมโรงแรมและรีสอร์ตจังหวัดตราด เผยว่าถือเป็นเรื่อดีที่ กทพ.จัดรับฟังความคิดเห็นของชาวเกาะช้าง และชาวตราด เกี่ยวกับการสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง เพราะปัจจุบันการเดินทางมาสู่เกาะช้างมีทางเลือกเดียวคือเรือเฟอร์รี่ ซึ่งหากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากการเดินทางจะเสียเวลามากขึ้นจนส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของเกาะช้าง
“การสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ และจะส่งผลดีต่อการกระจายรายได้สู่ธุรกิจอื่นๆ โดยต้องยอมรับว่า นักท่องเที่ยวชาวนิยมการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว อีกทั้งยังจะส่งผลดีต่อชาวเกาะช้าง และชาวตราด ในเรื่องการเดินทางที่ไวมากขึ้น” นายกสมาคมโรงแรมและรีสอร์ตจังหวัดตราด กล่าว
ขณะที่ นายสัคศิษฐ์ มุ่งการ ผู้บริหารกลุ่มโรงแรมสยามโรยัลวิว เกาะช้าง เผยว่าปัจจุบันจะมีรถยนต์เดินทางเข้ามา อ.เกาะช้างวันละ 800 คัน ไปกลับประมาณ 1,600 คัน หรือประมาณ 584,000 คันต่อปีเป็นอย่างน้อย และหากเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ จะเพิ่มเป็น 1,200 คัน หรือไปกลับ 2,400 คัน แต่หากเป็นช่วงวันหยุดยาวจำนวนจะเพิ่มขึ้นอีก
และหากมีการสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง จะยิ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางของ กทพ.ด้วยเช่นกัน