ตราด - กทพ. ร่วมจังหวัดตราดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการสร้างสะพานเชื่อมเกาะช้าง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการคมนาคมของชาวเกาะช้างและนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน
วันนี้ (2 ก.ย.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด โดยมีนายอาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. และนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมทับทิมสยาม โรงแรมเอวาด้า อ.เมืองตราด จังหวัดตราด
โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการ ได้แก่ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการดำเนินงาน แผนดำเนินงาน และแนวคิดการพัฒนาของโครงการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและผู้สนใจได้ร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่ต้น และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบการดำเนินงานศึกษาต่อไป
นายชาญวิทย์ อาจสมิติ ผู้จัดการโครงการ เผยว่าการดำเนินงานดังกล่าวเป็นสืบเนื่องมาจากการที่กระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการ ลงวันที่ 10 ก.พ.2566 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท สำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการคมนาคมของชาวเกาะช้างและนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน
โดยเฉพาะการเข้ามารักษาพยาบาลในตัวเมืองตราดและการส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือในเขตตัวเมือง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้จังหวัด เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย
โดย กทพ. ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของประเทศ 6 บริษัทศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้ระยะเวลา 24 เดือนเพื่อให้การศึกษาแล้วเสร็จในปี 2569
สำหรับแนวเส้นทางเลือกของโครงการมีทั้งสิ้น 4 แนวเส้นทาง คือ ฝั่ง อ.แหลมงอบ ใน ต.คลองใหญ่ และ ต.แหลมงอบ แห่งละ 2 จุด รวม 4 จุด และฝั่ง อ.เกาะช้าง ใน ต.เกาะช้าง รวม 4 จุด ซึ่งมีระยะทางระหว่าง 5.9-9.6 กม. ราคาก่อสร้าง กม.ละ 1,000 ล้านบาท โดย กทพ. จะดำเนินการก่อสร้างในจุดที่เกิดประโยชน์ที่สุด
“การรับฟังความคิดเห็นยังมีอีกหลายครั้งทั้งระดับใหญ่และระดับกลุ่มย่อย ซึ่งในระยะ 2 ปีที่ทำการศึกษาจะทำครบทุกมิติและน่าจะส่งผลให้ กทพ.พิจารณาก่อสร้างสะพานแห่งนี้โดยไม่ดองโครงการอย่างที่ชาวตราดกังวล และในวันที่ 3 ก.ย.นี้ยังจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของชาว อ.เกาะช้าง ที่โรงแรมอัยยะปุระ อีกด้วย” ผู้จัดการโครงการ กล่าว
ขณะที่ นายอาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. เผยว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในระยะเริ่มต้นของการศึกษาของโครงการ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ของโครงการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่ต้น และการทางพิเศษจะได้ดำเนินการในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการต่อไป
ด้าน นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราดมีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัด 20 ปี (พ.ศ.2566-2585) โดยมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว การ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการท่องเที่ยว ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาและบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว
อีกทั้งมีเป้าหมายในการพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ทักษะแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำ มีความมั่นคงปลอดภัย และพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่จะเห็น
และหากมีการพัฒนาโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จะเป็นโครงการสำคัญที่มีผลต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาตามเป้าหมายของจังหวัด ภายใต้งบประมาณในการศึกษากว่า 70 ล้านบาท ซึ่ง จ.ตราด ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน