ปีที่ผ่านมา พะยูนตรังเกยตื้นทั้งหมด 23 ตัว ช่วยชีวิตได้ 4 ตัว ตายทั้งหมด 19 ตัว หรือตายประมาณร้อยละ 7 โดยเกือบทั้งหมดเป็นตัวเต็มวัย และไม่ได้อดหญ้า ภายในกระเพาะอาหารยังพบหญ้าทะเลตามปกติ แต่กลับพบว่าป่วยตาย อาจเพราะร่างกายอ่อนแอจากปัญหาระบบนิเวศทางทะเลที่เสียหาย
คณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ตลอดจนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน นักอนุรักษ์ในพื้นที่ได้ปูพรมลงพื้นที่สำรวจศึกษาตลอดระยะเวลา 3 วัน (14-16 ก.พ.2567) ทั้งพื้นที่เกาะมุกด์ เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายกว่า 190 ตัว และพื้นที่หญ้าทะเลอื่น ๆ ของ จ.ตรัง
ทั้งนี้จากกรณีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์นากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ควงนักวิชาการทางทะเลลงพื้นที่สำรวจวิกฤตหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจ.ตรังนับหมื่นไร่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศ รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ พร้อมสั่งการแก่ไขด่วน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.กำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล 2.การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ3.กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล ป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอย่างไม่ถูกวิธี
คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ จึงได้จัดทีมกระจายกันลงพื้นที่สำรวจแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จ.ตรังต่อเนื่องในบริเวณพื้นที่บ้านเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง บริเวณอ่าวหยงหลำ และ บริเวณอ่าวขามหาดปากเมง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
โดยทำการสำรวจสภาพความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว อย่างครอบคลุมรอบด้านเช่นเดียวกับบริเวณพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง ทั้งงานด้านระบบนิเวศ งานด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และงานด้านสัตว์ทะเลหายาก ทั้งในระดับน้ำตื้นและน้ำลึก พร้อมเก็บตัวอย่างหญ้าทะเล ตะกอนดิน น้ำ รวมทั้งตรวจวัดอุณหภูมิของน้ำ ค่าออกซิเจนในน้ำ การวัดค่า PH ในน้ำ วัดความเค็ม วัดค่าความขุ่นของน้ำ วัดระดับของแสงในน้ำ
มีการดำน้ำลงไปสำรวจแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณน้ำลึกด้วย เพื่อดูสภาพความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ภาพรวมพบว่าบริเวณน้ำตื้นจะมีตะกอนดิน รวมทั้งทราย ทับถมหนาแน่น ทำหญ้าคาทะเลเสียหายทั้งหมดหลงเหลือความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ขณะที่ในบริเวณน้ำลึกแม้หญ้าคาทะเลจะไม่ผึ่งแห้ง แต่ก็มีความเสียหายเป็นบริเวณกว้างเช่นเดียวกัน บางส่วนเน่าตายเหลือแต่เหง้า บางส่วนเหลือความยาวประมาณ 10 – 30 เซนติเมตร เท่านั้น จึงเก็บตัวอย่างทั้งหมดเช่นเดียวกัน เพื่อนำไปตรวจและวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป
ทั้งนี้มีรายงานจากภาคประชาชนและนักอนุรักษ์ในพื้นที่ สันนิษฐานจากหลายสาเหตุ อาทิ การกัดกินของเต่าทะเล โรคที่เกิดในหญ้าทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สันดอน ร่องน้ำ การเครื่องย้ายของตะกอน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นต้น
นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า "จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่บริเวณเกาะลิบง พบหญ้าทะเลถูกทับถมด้วยตะกอนดิน และทรายเกาะหนาแน่นมากขึ้น เดินย่ำลงไปดินไม่มีการยุบตัว หญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมอย่างมาก ใบขาดสั้น มีเหง้าและรากแตกใหม่อยู่บ้าง แต่สภาพไม่ดีแล้ว แต่หญ้าใบมะกรูดอาหารพะยูนที่ขึ้นบนเนินใกล้ชายฝั่งก็ยังมีเยอะอยู่พอสมควร"
"เช่นเดียวกับบริเวณเกาะมุกด์ หญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมอย่างมาก แต่บริเวณน้ำตื้นหญ้าใบมะกรูดยังเจริญเติบโตดีประมาณ 70-80 % เชื่อว่ายังเพียงพอสำหรับอาหารพะยูน ส่วนสาเหตุความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย เช่น ข้อมูลที่ตรงกันทั้งการจัดเก็บข้อมูลของศูนย์วิจัย ทั้งของชาวบ้าน และข้อมูลของสถานีอุทกศาสตร์บริเวณบ้านหาดยาวที่ระบุตรงกันว่า ปีนี้น้ำทะเลลดต่ำลงมากกว่าปกติ และระยะลงถอยร่นลงไปต่ำกว่าเดิมประมาณ 5-6 เมตร และเป็นเวลานานกว่าปกติ ทำให้หญ้าทะเลเกิดการผึ่งแห้งนานกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลง รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ่"
"เรื่องหญ้าทะเลโอกาสจะฟื้นฟูกลับมาให้เหมือนเดิมนั้นคงยากมาก เพราะว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมแล้ว เช่นลักษณะดินตะกอน อาจต้องรอประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ฟื้นตัว ส่วนการพบพะยูนบริเวณพื้นที่เกาะมุกด์มากขึ้น อาจเป็นเพราะมีหญ้าใบมะกรูดมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าหญ้าใบมะกรูดยังมีเพียงพอสำหรับพะยูน เพราะพะยูนเกยตื้นร่างกายไม่ได้ซูบผอม ในกระเพาะยังมีอาหาร แต่เกิดจากการป่วยตายซึ่งอาจเกิดจากปัญหาระบบนิเวศรวมทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ่"
.
ทั้งนี้ จากการสำรวจของทีมศูนย์วิจัยฯ พบว่า พะยูนในทะเลตรังมีจำนวน 273 ตัว ส่วนที่ตายลงประมาณ 20 ตัวของปีที่ 2566 ผ่านมา ไม่ได้ทำให้พะยูนวิกฤต เพราะอัตราการตายยังอยู่ในภาวะปกติ เพราะพะยูนเพิ่มขึ้นมามาก แต่ยอมรับว่าทุกคนกังวลทั้งความอยู่รอดของพะยูนและปากท้องของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสัตว์น้ำทะเลหายไป ซึ่งทีมนักวิชาการจะช่วยกันเต็มที่ในการเร่งฟื้นฟูหญ้าทะเลต่อไป
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาหญ้าทะเลในพื้นที่ ที่ขึ้นชื่อว่าเมืองหลวงของพะยูน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อตอนปี 2563 บริเวณเกาะลิบงก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเกาะลิบงและหน่วยงานราชการลงพื้นที่สำรวจหญ้าทะเล แหล่งอาหารของพะยูน บริเวณหาดตูบ อ.กันตัง จ.ตรัง เคยพบปรากฎการณ์หญ้าทะเลตายเสียหายนับ 3,000 ไร่
อ้างอิง แลต๊ะแลใต้
ชมคลิป หญ้าทะเลสูญ..จับตาอนาคตพะยูนเกาะลิบง จ.ตรัง
เครดิตคลิป แลต๊ะแลใต้