กาญจนบุรี - ส.ส.อัครนันท์ ส.ส.เมืองกาญจน์ แจ้งข่าวดี งบสร้างอาคาร 8 ชั้น รพ.พหลฯ กว่า 170 ล้านบาทผ่านฉลุย เพิ่มสาขาเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ต้องไปรักษาไกลอีกต่อไป อนาคตเตรียมสร้างอาคารจอดรถ แก้ปัญหาไม่มีที่จอด
นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 1 เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด S 562 เตียง เปิดให้บริการจริง 674 เตียง และได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขให้ขยายเตียงเป็น 700 เตียง ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ต้องให้การสนับสนุนโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน 15 แห่งของจังหวัดกาญจนบุรี ประกอบกับจังหวัดกาญจนบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นอันอันดับ 3 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขตภูเขาและที่สูง เขตที่ราบลูกฟูก และเขตที่ราบลุ่มน้ำ โดยจังหวัดกาญจนบุรีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ แต่ละอำเภอมีพื้นพื้นที่ห่างไกล การติดต่อและการรับส่งผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนากับโรงพยาบาลชุมชนต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างมาก รวมทั้งหากต้องนำส่งโรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลนครปฐม และโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างสูง
ฉะนั้นจึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ และให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดอัตราการตายในโรคที่สำคัญให้ใด้มากที่สุด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 เห็นชอบแนวทางที่จะสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของสหภาพพม่า ให้สามารถรองรับการขยายฐานอุตสาหกรรมของไทยระยะยาว โดยพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก
โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ Service Plan ปี พ.ศ.2559-2568 สอดคล้องกับ Service Plan ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี โดยจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพิ่มเติมในสาขาหลัก สาขารอง สาขาเฉพาะทาง และศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงเพื่อรองรับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายสหภาพพม่า
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หน่วยงานสนับสนุนจำเป็นต้องเพิ่มพื้นพื้นที่คลังพัสดุ คลังยาและเวชภัณฑ์ หน่วยจ่ายกลางและงานซักฟอก เพื่อรองรับงานบริการของโรงพยาบาลให้เพียงพอปลอดภัย และได้มาตรฐาน ดังนั้น โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา มีความจำเป็นต้องมีอาคารสนับสนุน บริการ 8 ชั้น จำนวน 1 หลัง พื้นที่ใช้สอยประมาณ 7,296 ตารางเมตร
นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ กล่าวว่า จากกรณีข้างต้นล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการก่อสร้างอาคารสนับสนุนบริการ 8 ชั้น โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) พื้นที่ใช้สอยประมาณ 7,296 ตารางเมตร โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว เนื่องจากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการจัดหาอาคารสนับสนุนบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน มีพื้นที่ใช้สอยอย่างเพียงพอและเหมาะสม เพื่อรองรับงานบริการของโรงพยาบาล ได้แก่ รองรับหน่วยจ่ายกลางงานชักฟอก คลังพัสดุ คลังยาและเวชภัณฑ์ สำนักงาน และห้องประชุมที่เพียงพอต่อบุคลากรและงานที่สำคัญของโรงพยาบาล
ทั้งนี้ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รายการงบลงทุน ครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา วงเงินงบประมาณ 176.73 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
ทำให้โรงพยาบาลมีอาคารสนับสนุนการบริการที่ได้มาตรฐานสามารถเพิ่มศักยภาพ ในการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ รองรับการขยายบริการตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะทำให้สามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานเพียงพอต่อการใช้งานด้านบริการรักษาผู้ป่วย ด้านการผ่าตัดและการดูแลผู้ป่วยในได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ต้องให้การสนับสนุนโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน 15 แห่ง ของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้มีการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพิ่มเติม ในสาขาหลัก/รอง สาขาเฉพาะทาง และศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง เช่น สาขาอุบัติเหตุและฉุกเฉิน สาขาทารกแรกเกิด สาขาโรคมะเร็ง สาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อรองรับการดำเนินงานโครงการ พัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานและนักท่องเที่ยว ตลอดจนรองรับผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ของพื้นที่ และในอนาคตข้างหน้าจะมีการของบประมาณในการนำมาใช้ก่อสร้างอาคารเพื่อความสะดวกในด้านสถานที่จอดรถต่อไป