ศูนย์ข่าวขอนแก่น - คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน จัด “มหกรรมคอนเสิร์ตการกุศล ศิลปินรวมใจเพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” 7 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเงินรายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยรายได้น้อย และฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง
ที่ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย และสื่อสารองค์กร เป็นประธานจัดแถลงข่าว HOPE for Health “มหกรรมคอนเสิร์ตการกุศล ศิลปินรวมใจเพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” มี รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ธรรศ สงวนศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ นายอาทร กันตวธีระ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายสุมิตรศักดิ์ พลล้ำ ประธานชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน นายภู่กัน ปุริสาย (บอยศิริชัย หมอลำใจเกินร้อย) น.ส.วลัยรัตน์ ศรีไสย หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ คณะผู้บริหารและศิลปินหมอลำ ร่วมงานแถลงข่าวอย่างครบครัน
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร กล่าวว่า งานแถลงข่าวกิจกรรม HOPE for Health “มหกรรมคอนเสิร์ตการกุศล "ศิลปินรวมใจเพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง" จะจัดขึ้นวันที่ 7 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักจะพิการเกิดขึ้น เนื่องจากการทำงานของสมองเสียไป เกิดเนื้อสมองตายส่งผลให้เกิดความพิการ
กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต หรือมีโอกาสกลับเป็นซ้ำต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน หรือไม่สามารถทำงานได้ ต้องมีผู้ดูแลทำให้ครอบครัวขาดรายได้จากการขาดผู้นำทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ประกอบกับการที่ต้องใช้จ่ายรักษาโรค และผู้ป่วยมักประสบปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์
การทำงานเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องมีทรัพยากรต่างๆ มาช่วยในการดำเนินกิจกรรม เช่น ด้านการดูแลรักษาด้านการพัฒนาวิชาการและบุคลากร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการต่างๆ จึงได้จัดตั้งกองทุนโรคหลอดเลือดสมองขึ้น ซึ่งกองทุนนี้ดำเนินการภายใต้มูลนิธิคณะแพทย์ใช้เสริมสร้างศักยภาพให้อยู่ในระดับเทียบเท่ามาตรฐานสากล และมีความพร้อมในการทำประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นฐานจัดการศึกษา และพัฒนาภาคอีสาน ยังมีศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกและภูมิปัญญาของท้องถิ่นและของชาติ ที่ได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปโดยมีชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมชาวอีสาน ที่ผ่านมาทางชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอนได้จัดกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อทำนุบำรุงด้านศิลปวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่เสมอ
ด้าน รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ขอขอบคุณชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่สนับสนุนกิจกรรมคอนเสิร์ตการกุศลครั้งนี้ กิจกรรมครั้งนี้เพื่อนำเงินรายได้ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยรายได้น้อยที่มีข้อจำกัด ค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินสิทธิและฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมนำศักยภาพของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มาสร้างประโยชน์ให้สังคม ทั้งด้านความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
รูปแบบการจัดกิจกรรม HOPE for Health "มหกรรมคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อผู้ป่วยโรค หลอดเลือดในสมอง" มีกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชน ประกอบด้วย การเสวนาเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยแพทย์เฉพาะทางและศิลปิน จ่าหลอย เฮ็นรี่ นิทรรศการให้ความรู้เรื่องอาหาร เรื่องยา เรื่องการป้องกัน และการสังเกตอาการเมื่อเกิดความผิดปกติเป็นต้น นิทรรศการด้านวิชาการจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. ณ โถงหน้าห้องประชุม ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คอนเสิร์ต เริ่ม 17.00 น.ประตูเปิด 16.00 น. โดยมีศิลปินสลับสับเปลี่ยนขึ้นแสดงคอนเสิร์ตจนถึงเวลา 24.00 น. ราคาบัตร 199 บาท/10,000/30,000 บาท โดยบัตร 10,000 บาท และ 30,000 บาท สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและจองบัตรได้ที่ Facebook : มหกรรมคอนเสิร์ตการกุศล Hope for Health เริ่มจำหน่ายบัตรวันที่ 14 สิงหาคมเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป
ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ อธิบายเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์ว่า ทุกๆ 3 นาทีจะมีคนไข้รายใหม่ 1 คน ในจังหวัดขอนแก่น ทุกๆ วันจะมีคนเป็นโรคอัมพาตอยู่ประมาณวันละ 18 คน ซึ่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นแม่ข่ายใหญ่ในการดูแลคนไข้เหล่านี้ สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้คือ ถ้าเป็นอัมพาตแล้วจะต้องมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อได้รับการรักษาที่เรียกว่า ทางด่วนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ทั้งนี้ จะมีนาทีทองอยู่ประมาณ 270 นาที เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งการรักษาอาการเหล่านี้ สามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หลังจากพ้น 72 ชั่วโมงแล้ว การรักษาที่มีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง คือการทำกายภาพบำบัด หรือการดูแลด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีมีมาตรฐานอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยนั้นหายจากอาการ หรือมีอาการดีขึ้น จนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งส่วนนี้เรามีศาสตร์สาขาวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นผู้ดูแล และมีทั้งนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักฝึกพูดในกิจกรรมต่างๆ
สุดท้ายนายสุมิตรศักดิ์ พลล้ำ ประธานชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อช่วยเหลือดูแลรักษาผู้ป่วยยากไร้ที่มีข้อจำกัดส่วนเกินสิทธิกลุ่มโรค stroke ในการทำหัตถการ Thrombectomy, Coil Embolization ที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ เข้ามารักษาพยาบาล เนื่องจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพรักษา
ด้วยเจตนารมณ์ต้องการหยิบยื่นโอกาสทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยยากไร้ ที่มีข้อจำกัดส่วนเกินสิทธิในกลุ่มโรค stroke ดังกล่าว ให้เข้าถึงการรักษาโดยปราศจากค่าใช้จ่ายพร้อมกับนำศักยภาพของโรงพยาบาลศรีนครินทร์คณะแพทยศาสตร์มาสร้างประโยชน์ให้สังคมทางด้านความพร้อมของบุคลากรพยาบาล รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
“ชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยินดีสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อการกุศลครั้งนี้ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งระดมเงินทุนเพื่อช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลศรีนครินทร์ด้วยอีกทาง โดยเชิญคณะหมอลำคณะต่างๆ เข้าร่วมทำการแสดง กำหนดจัดการแสดงในวันที่ 7 กันยายน 2567 มีคณะหมอลำเข้าร่วมทั้งสิ้น 26 วง 200 กว่าชีวิต” นายสุมิตรศักดิ์ กล่าวในที่สุด