xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมนัส” ลั่นลงดาบเจ้าหน้าที่ชลประทานตราดไม่ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างจนต้องปล่อยท่วมบ้านประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - “ธรรมนัส” ลงพื้นที่ จ.ตราด ติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 30 ปี ทำชาวบ้านใน 2 อำเภอเดือดร้อนเกือบพันครัวเรือน สั่งรองอธิบดีกรมชลประทานตรวจสอบการทำงานเจ้าหน้าที่ชลประทานตราดบกพร่องหรือไม่ปล่อยน้ำเต็มอ่าง จนต้องปล่อยท่วมบ้านเรือนประชาชน

เมื่อเวลา 14.15 น.วันนี้ (23 ก.ค.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะทำงาน ได้เดินทางไปมัสยิดเราฎลตุ้ลญีนาน ม.3 ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด เพื่อติดตามปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ โดยมีนายพีระ เอี่ยมสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 2 อำเภอ คือ อ.เมืองตราด และ อ.เขาสมิง และมีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมรวม 6 ตำบล 6 ชุมชน 47 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 938 ครัวเรือน มีผู้เดือดร้อนจำนวน 2,840 คน

ร.อ.ธรรมนัส เผยว่า รัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือผ่านกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีงบประมาณในการเยียวยาความเสียบหายต่างๆ โดยทราบว่าที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้ประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติแล้ว จึงสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และขอให้ทางจังหวัดดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด จากนั้นจึงได้มอบถุงยั้งชีพให้ชาวมัสยิดเราฎลตุ้ลญีนาน

และเดินทางต่อไปโครงการชลประทานตราด เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปจากนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ถึงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดตราด ใน 3 จุดประกอบด้วย จุดแรกที่ ต.แสนตุ้ง ซึ่งมีฟาร์มสุกรขนาดใหญ่


จุดที่ 2 ต.วังกระแจะ บ้านหนองบัว ซึ่งน้ำที่ท่วมถนนสุขุมวิท ทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ ซึ่งขณะนี้น้ำเริ่มลดระดับลงแล้ว และจุดที่ 3 คือ อ่างเก็บน้ำเขาระกำตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำ และมีฝนตกลงมามากจนเกินคความจุอ่างที่มี 2.5 ล้าน ลบ.ม. จนต้องระบายน้ำออกเพื่อรักษาอ่างเก็บน้ำไว้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ม.3 ได้รับผลกระทบ

โดย ร.อ.ธรรมนัส ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานตราด ดูแลความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาที่เกิดขึ้น และกำชับให้รองอธิบดีกรมชลประทาน ตรวจสอบการทำงานเจ้าหน้าที่ชลประทานตราด กรณีปล่อยน้ำล้นอ่างลงพื้นที่ชาวบ้านจนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

จี้กรมชลประทาน ในฐานะผู้บริหารจัดการน้ำ ต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และจะต้องมีวอร์รูมตรวจสอบน้ำทั้ง 77 จังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมจนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยเฉพาะปัญหาน้ำในภาคตะวันออก ที่มีปริมาณน้ำมากทั้งใน จ.จันทบุรี และตราด

 








กำลังโหลดความคิดเห็น