ตราด - ชลประทานตราดมั่นใจมีน้ำเพียงพอต่อการเกษตรแม้ในปีนี้ฝนตกน้อย ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่งยังมีมากถึง 80% แต่หากฝนไม่ตกเพิ่มปีหน้าอาจเสี่ยงภัยแล้ง
วันนี้ (29 ส.ค.) นายธำรงค์ศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดตราด เผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่าขณะนี้ไม่มีปัญหาใดๆ เนื่องจากชลประทานตราด ได้เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญทั้ง 7 แห่งจนมีภาพรวมความจุอยู่ที่ร้อยละ 80 ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานไม่ได้ผลกระทบใดๆ
ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมจากการรายงานของสถานีอุตุนิยมวิทยาคลองใหญ่ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีเพียง 1,754.9 มม.เท่านั้น และหากในเดือน ก.ย.- ต.ค.ปีนี้ไม่มีฝนลงมาอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำในปี 2567 ที่อาจเกิดภาวะภัยแล้งได้
“ขณะนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำตอนบน ระดับน้ำยังไม่ท่วมองค์พระพุทธสิริภูวดลมงคลชัย (พระจมน้ำ) เหมือนที่เคยเป็นมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งหรือการขาดแคลนน้ำในปีนี้แม้จะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำสะสมเพียงพอ แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ประชาชนอาจจะต้องเตรียมความพร้อมไว้ เนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีความต้องการใช้น้ำมากทั้งสวนผลไม้และพืชผลอื่นๆ” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดตราด กล่าว
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยสิ่งที่น่ากังวลในปีนี้คือปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่ที่มีเพียง 1,700 มม. ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปกติจากที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้ถึง 3,000 มม. ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังเหลือช่วงเวลาที่จะมีฝนตกอีกเพียง 2 เดือน คือ ในเดือน ก.ย.-ต.ค.2566
“หากฝนตกหนักมากน้ำจะท่วม แต่หากฝนไม่ตกมากใน 2 เดือนนี้จะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งทางจังหวัดได้หารือกับโครงการชลประทานตราดไว้ล่วงหน้าแล้วในเรื่องการจัดเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำซึ่งมีมากเพียงพอในพื้นที่ชลประทาน แต่ปัญหาคือ วันนี้เกษตรกรในพื้นที่ จ.ตราด ต่างโค่นไม้ที่ต้องการน้ำน้อยอย่างยางพาราและหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่ต้องการน้ำมากอย่างทุเรียนเพราะมองว่าขายได้ราคาดี จนส่งผลกระทบต่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องการเก็บกักน้ำให้เพียงพอ”
ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ยังเผยอีกว่า นี่คือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจทำให้ จ.ตราด ประสบปัญหาภัยแล้งหนักกว่าทุกปี โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียนที่ต้องการน้ำเป็นจำนวนมาก และหากขาดน้ำต้นอาจตายหรือผลทุเรียนอาจจะออกได้ไม่มากนัก จนส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร