ตราด - เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมืองตราด มั่นใจมีน้ำใช้ตลอดฤดูทำการเกษตรที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค.66 เป็นต้นไป หลังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 7 แห่ง และปริมาณน้ำในพื้นที่พระจมน้ำเต็ม 100% จากฝนที่ตกต่อเนื่อง
วันนี้ (23 ต.ค.) นางวันวิสาห์ สระนวลจันทร์ อายุ 49 ปี เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและทำพืชไร่ริมอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ต.หนองโสน อ.เมือง จ.ตราด ใกล้กับพื้นที่พระจมน้ำ หรือพระภูวดลศิริมงคลชัย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 20 ไร่ และมีต้นทุเรียนอายุประมาณ 1-2 ปีจำนวน 400-500 ต้น เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ภาวะฝนที่ตกหนักและต่อเนื่องใน จ.ตราด ได้ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำ เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.5 เมตรแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่พระจมน้ำ สูงถึงหน้าอกเหนือราวนมขององค์พระแล้ว ซึ่งระดับน้ำที่สูงขึ้นได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ปลูกทุเรียนบางส่วน และเสาเรือนบ้านพักชั่วคราวที่ขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตรแล้วเช่นกัน
โดยระดับน้ำที่สูงขึ้นถึงระดับหน้าอกของพระจมน้ำ สะท้อนถึงระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ที่จะสามารถสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะสวนทุเรียนที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากในช่วงที่กำลังออกดอกออกผล
“ที่ผ่านมาชาวสวนพากันเป็นห่วงว่าน้ำจะไม่เพียงพอ เนื่องจากระดับน้ำในอ่างช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ต่ำมากจากภาวะฝนที่ตกน้อย จนทำให้มีแนวโน้มว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำจะสูงไม่เท่ากับปีก่อน แต่วันนี้เมื่อมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่รู้สึกพอใจที่สามารถช่วยให้ระดับน้ำในอ่างสูงตาม” เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน กล่าว
ด้าน นายธำรงศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตราด เผยถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 7 แห่งของจังหวัดที่กระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ รวมทั้งประตูน้ำที่มีอยู่ในโครงการชลประทานตราด ว่าสามารถเก็บน้ำไว้ได้ถึง 100% แล้ว และสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลดีต่อการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำเพื่อการทำเกษตรกรรมในช่วงกลางเดือน ธ.ค.66 เป็นต้นไป
โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ที่ปัจจุบันปริมาณน้ำเต็มความจุ 47.685 ล้าน ลบ.ม.แล้วและจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน 3 ตำบลที่ประกอบด้วย ต.หนองโสน ต.หนองเสม็ด และ ต.หนองคันทรง ที่ปลูกข้าวและปลูกทุเรียนเป็นหลักไม่ได้รับผลกระทบ
“แต่อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บต่างๆ จะเต็มความจุ 100% เช่นเดียวกับบริเวณพระจมน้ำ ที่ขณะนี้มีระดับน้ำสูงสุดแล้วเช่นกัน แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานอาจมีปัญหาบ้าง จึงขอแนะให้เกษตรกรเก็บกักน้ำไว้ล่วงหน้า เนื่องจากอาจจะเกิดการขาดแคลนได้ในช่วงเดือน พ.ค.67 หากฝนทิ้งช่วง” ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตราด กล่าว