xs
xsm
sm
md
lg

ไขความลับ “กระเบนน้ำโขง” โผล่แต่วังลุ่มสามเหลี่ยมทองคำเชียงของ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สามเหลี่ยมทองคำ - นักวิชาการ-พรานปลา-นักอนุรักษ์ ล่องเรือไขความลับ "กระเบนน้ำโขง" จับได้แต่ลุ่มสามเหลี่ยมทองคำบ้านดอนที่-เชียงของ พบสภาพแวดล้อมเป็นเหมือนครกหรือวัง ระบบนิเวศเอื้อ แต่หวั่นสูญหายหลังกระแสน้ำเปลี่ยนจนต้องเร่งวิจัยเพาะพันธุ์



ชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขงในพื้นที่ อ.เชียงของ อ.เชียงแสน และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ลงพื้นที่สำรวจแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว หมู่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ

หลังจากพรานปลาน้ำโขงสามารถจับปลากระเบนแม่น้ำโขง หรือชาวท้องถิ่นเรียกว่า "ปลาฝาไม" ได้จากคุ้งน้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน จ.เชียงราย ที่มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร บริเวณดังกล่าวได้เพียงจุดเดียว โดยครั้งล่าสุดจับได้เมื่อเดือน พ.ค. 2567 เป็นกระเบนน้ำโขงหนักประมาณ 1.2 กิโลกรัม

อาจารย์สุทธิ มะลิทอง จากสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขงพบได้เพียงที่พื้นที่หมู่บ้านดอนที่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า "ครก" หรือ "วัง" ที่มีทั้งมวลน้ำ ผิวใต้น้ำที่เป็นตะกอนดินโคลนและทรายปนกัน ทำให้มีหนอนแดง ไส้เดือนน้ำ นอกจากนี้ยังมี "หลงแก่ง" ที่เป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนแมลงต่างๆ เช่น แมลงชีปะขาว ฯลฯ กลายเป็นแหล่งหากินของปลากระเบน

แต่หากพื้นที่เหล่านี้เปลี่ยนแปลงหรือหายไปก็จะส่งผลกระทบต่อจำนวนปลากระเบนแม่น้ำโขง เช่น พืชริมน้ำที่เป็นแหล่งดักดินทราย ฯลฯ นอกจากนี้ การขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นธรรมชาติก็จะทำให้สภาพแวดล้อมเหล่านี้ได้รับผลกระทบ เช่น พืชดักดินทรายไม่เติบโต ฯลฯ และหากไม่มีอาหารจากแหล่งนี้ปลาก็ย้ายถิ่นหากินหรือสูญหายไปเลย

นายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้านดอนที่ กล่าวว่า ปลากระเบนแม่น้ำโขงถือเป็นปลาหากยากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องมาจากระบบนิเวศของแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ที่เห็นได้ชัดคือการขึ้นลงของน้ำผิดปกติ ตนจึงขอขอบคุณสมาคมแม่น้ำโขงเพื่อชีวิตที่นำนักวิชาการเข้ามาทำการวิจัย และเป้าหมายต่อไปคือความพยายามเพาะพันธุ์ปลากระเบนแม่น้ำโขงเพื่อจะได้อนุรักษ์ โดยใช้พื้นที่ริมฝั่งบ้านดอนที่ในการดำเนินการและตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือปลาอื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น