ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) หรือกรมทะเล ได้ระบุว่าสาเหตุหลักของพะยูนที่ตาย ราวร้อยละ 90 เกิดจากการติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น เช่นเดียวกับ พะยูน 3 ตัวล่าสุดที่จากไป
ตัวแรกที่หาดนพรัตน์ฯ กระบี่ ชันสูตรแล้ว เกิดจากเรือชน ตัวสองตัวสาม เกิดเหตุที่เกาะหมากน้อย ในอ่าวพังงา อยู่ระหว่างการชันสูตรซาก แต่เป็นไปได้สูงว่าอาจจะเกิดจากการติดเครื่องมือประมง
ทั้งนี้ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากภาวะโลกร้อน-ทะเลเดือด ซึ่งทำให้แหล่งหญ้าทะเลขาดแคลน พะยูนเลยต้องดิ้นรนออกไปหาหญ้าทะเล (อาหารหลักของพะยูน) ในแหล่งอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย นั่นเป็นเหตุให้พะยูนเข้าสู่แดนสังหาร โดยการถูกเครื่องมือประมงฆ่าอย่างไม่ตั้งใจ
ข้อมูลจากกรมทะเล เผยว่าเครื่องมือประมงที่พะยูนมาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ
"พะยูน" กับ วิถีชีวิตคน และท้องทะเลไทย
แนวหญ้าทะเลเป็นแหล่งหากินสำคัญของพะยูน แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ของชาวประมงเช่นกัน การจัดสรรปันส่วนพื้นที่อย่างสมดุลย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้หากใช้ข้อมูลมาปรึกษาหารือร่วมกัน การแบ่งเขตจัดการใช้ประโยชน์อย่างมีส่วนร่วม โดยอาศัยข้อมูลการหากินของพะยูนมาพิจารณา และร่วมกันงดใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในแหล่งหากินสำคัญของพะยูน เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยอนุรักษ์พะยูนที่เหลืออยู่เอาไว้ให้ได้
นอกจากเครื่องมือประมงแล้วการคุกคามทำลายแหล่งหญ้าทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อมก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน การทำลายทางตรงได้แก่การทำประมงแบบลาก ไถ หรือคราดไปตามพื้นท้องทะเล เช่นอวนรุน อวนลาก การคราดหอย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้เครื่องมือดังกล่าวในแนวหญ้าทะเลทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก ย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งหากินของพะยูน รวมไปถึงทำลายแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆไปด้วย ทางการต้องเร่งให้มีการจัดการแหล่งหญ้าทะเลเหล่านี้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน
ข้อมูลของกรมทะเล (ทช.) เมื่อปี 2565 พบว่า จำนวน "พะยูน" ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 200 ตัว อาศัยอยู่ทั้งในฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ จ.ระนอง ถึง จ.สตูล และชายฝั่งอ่าวไทย พบมากที่สุดในบริเวณเกาะมุก และเกาะตะลิบง จ.ตรัง
คนต้องเข้าใจ “ทะเลเดือด-แหล่งหญ้าทะเลตาย” พะยูนในวันนี้จึงต้องดิ้นรน
ไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสีย แต่ต้องยอมรับการตายของพะยูนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ กำลังกลายเป็นวิกฤตของสัตว์ทะเลหายากชนิดนี้
การหายไปของแหล่งหญ้าทะเลที่จ.ตรัง ทำให้พะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของไทยต้องกระจายไปหากินยังพื้นที่อื่นๆ หลายพื้นที่อาจเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินเรือ หรือแหล่งทำประมง
ทางการ (กรมทะเล -ทส.) คงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย ให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา รายงานการพบเห็นพะยูน เพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์ที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน
ตามข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า พะยูนกินหญ้าทะเลมากถึง 35 กิโลกรัมต่อวัน พะยูนจึงเป็นนักปลูกหญ้าทะเลตัวยง แถมยังช่วยใส่ปุ๋ยให้เสร็จสรรพด้วยการถ่ายมูลออกมา พะยูนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุสารอาหารในแนวหญ้าทะเล พะยูนต้องพึ่งพาแนวหญ้าทะเล แต่ขณะเดียวกันถ้าหญ้าทะเลขาดสัตว์อย่างพะยูนความสมบูรณ์ก็จะค่อยๆ ลดลง และย่อมส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงชุมชนชายฝั่งที่ต้องอาศัยหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย
ประเด็นที่ต้องย้ำ คือ มนุษย์จำเป็นต้องรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทะเลเดือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งหากินสำคัญของพะยูน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ของชาวประมงเช่นกัน
การจัดสรรปันส่วนพื้นที่อย่างสมดุลย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้หากใช้ข้อมูลมาปรึกษาหารือร่วมกัน การแบ่งเขตจัดการใช้ประโยชน์อย่างมีส่วนร่วม โดยอาศัยข้อมูลการหากินของพะยูนมาพิจารณา และร่วมกันงดใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในแหล่งหากินสำคัญของพะยูน เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยอนุรักษ์พะยูนที่เหลืออยู่เอาไว้ให้ได้
หาก “เต่ามะเฟือง” เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ จ.พังงา ดังนั้นเมื่อพูดถึง "พะยูน" ก็ทำให้คนนึกถึง จ.ตรัง เป็นเหมือนมาสคอตทำให้คนมาท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน เมื่อคนรู้จักพะยูน ก็จะช่วยกันอนุรักษ์ทะเลทั้งหมดของประเทศไทย
เชื่อว่าชาวบ้านในชุมชนเข้าใจดีว่า หากไม่มีพะยูนแล้วจะได้รับผลกระทบขนาดไหน นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราต้องช่วยกันอนุรักษ์พะยูนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคนี้
อ.ธรณ์ วิงวอน หน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งพีอาร์
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เปิดเผยว่าสถานการณ์เข้าใจง่าย โลกร้อน หญ้าทะเลแถวตรัง/กระบี่ตอนล่างหมดไป พะยูนอพยพขึ้นเหนือ พะยูนเข้ามาหาหญ้าแถวกระบี่ตอนบน อ่าวพังงา ภูเก็ต แต่ที่นั่นมีเรือท่องเที่ยวหนาแน่น มีการประมงในพื้นที่
พะยูนไม่คุ้นกับเรือเร็วจำนวนมาก พี่ๆ คนขับเรือก็ไม่คุ้นกับพะยูน เพราะแถวนี้สมัยก่อนมีน้อยมาก ยังรวมถึงการประมงในพื้นที่ แน่นอนว่าพี่ๆ ล้วนรักพะยูน แต่เมื่อไม่เคยมี จู่ๆ มากันเยอะ ปัญหาย่อมเกิด นั่นคือจุดเริ่มต้นของจุดจบ ที่ยังไม่จบหรอก ยังมีอีกหลายพะยูนที่จะจากไป จากไปเรื่อยๆ จนจบ
ผมเขียนในภาพว่า ได้โปรด…ได้โปรด…อะไร ?
กรมทะเล กรมอุทยาน เครือข่าย กำลังเร่งประสานงาน สำรวจและระบุแหล่งที่พะยูนอพยพเข้ามา เพื่อแจ้งผู้ประกอบการทั้งการท่องเที่ยวและทำประมง
ได้โปรด…ทำให้เร็วให้ทัน ได้โปรด…มีงบประมาณให้พอ ได้โปรด…ให้ความร่วมมือ
ย้อนไปที่ต้นเหตุ โลกร้อนฆ่าหญ้าทะเล สถานการณ์ไม่ดีขึ้นเลย เลวร้ายลงด้วยซ้ำ ได้โปรด…เร่งรีบงานวิจัยเรียนรู้และฟื้นฟูหญ้าทะเล ได้โปรด…เร่งรีบพัฒนาการสำรวจ/ดูแลสัตว์หายาก
ได้โปรด…ลดโลกร้อน ได้โปรด…เชื่อว่าโลกร้อนเรื่องจริง ได้โปรด…เชื่อว่าโลกร้อนฆ่าทุกสิ่ง
ถึงน้องพะยูนทั้งสาม และอีกหลายชีวิตที่จะตามมา ได้โปรด…ไปสวรรค์ ได้โปรด…เกิดใหม่ในโลกที่มนุษย์รักธรรมชาติมากกว่านี้
ถึงตัวเอง ถึงเพื่อนธรณ์ ได้โปรด…เข้มแข็ง ได้โปรด…เชื่อเสียงกระซิบจากหัวใจ ได้โปรด…อย่ายอมแพ้ในคืนวันอันมืดมน ได้โปรด…เงยหน้าขึ้น มองฟ้า และเดินต่อไปบนเส้นทางที่เราเลือก🌏
อ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat