ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ชาวบ้านห้วยแถลงโคราชบุกพบฝ่ายกม.กรมศิลป์ทวงถามรื้อถอนอาคารปลูกคร่อมทับปราสาทหินพันปี เผยล่าสุดที่พักสงฆ์ร่อนหนังสือถึงกรมศิลปากรยอมรับคำสั่งให้รื้อถอนอาคารทับคร่อมปราสาทแล้ว พร้อมขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบและรื้อถอนตามขั้นตอนที่ถูกต้องโดยยินดีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ด้านจนท.รอขั้นตอนพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนเข้าพื้นที่รื้อถอน
จากกรณีชาวบ้านในอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ลุกขึ้นมารวมตัวทวงคืนปราสาทหินโบราณสถานอายุนับพันปีคืน หลังจากที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทได้เข้ามาใช้พื้นที่โบราณสถานสร้างอาคารปฏิบัติธรรมทับคร่อมลงไปกลาง “ปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน” ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังกรมศิลปากร ทำให้กรมศิลปากรมีคำสั่งลงวันที่ 29 กันยายน 2565 ให้รื้ออาคารศาลาปฏิบัติธรรมที่ปลูกสร้างในพื้นที่โบราณสถานโดยไม่ขออนุญาตอธิบดีกรมศิลปากร จนมีการฟ้องร้องไปยังศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา โดยศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองคำสั่งรื้อถอนไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำร้องการขอคุ้มครองคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีดุลยพินิจว่าการที่มีการปลูกสร้างอาคารขนาดใหญ่คร่อมทับลงไปที่ตัวปราสาทหินซึ่งเป็นโบราณสถาน อาจส่งผลทำให้เกิดผลกระทบกับโครงสร้างของโบราณสถานได้ ซึ่งคำสั่งของกรมศิลปากรเป็นคำสั่งโดยชอบแล้ว นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านบ้านหลุ่งตะเคียน ได้เดินทางเข้าพบกับฝ่ายกฎหมายของกรมศิลปากร เพื่อทวงถามความคืบหน้าของการรื้อถอนอาคารศาลาปฏิบัติธรรมที่ปลูกคร่อมทับตัวปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมศิลปากร พบว่า พระฉลวย อาภาธโร หัวหน้าที่พักสงฆ์โคกปราสาท ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร ยอมรับคำสั่งรื้อถอนอาคารศาลาการเปรียญที่พักสงฆ์โคกปราสาท(อาคารหมายเลข 44) ที่อยู่บริเวณด้านหน้าตัวปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน แล้ว
โดยรายละเอียดหนังสือ ระบุว่า ตามที่กรมศิลปากร ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารศาลาการเปรียญ (อาคารหมายเลข 44 ) ที่อยู่บริเวณด้านหน้าตัวปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน ซึ่งอาจเป็นผลหรือสร้างความเสียหายแก่โบราณสถานนั้น ที่พักสงฆ์โคกปราสาทเห็นว่าเป็นคำสั่งโดยชอบ จึงไม่มีเหตุผลคัดด้านในการรื้อถอน และยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการรื้อถอน แต่เกรงว่าถ้ารื้อถอนด้วยตนเองโดยไม่มีการควบคุมดูแลจากเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญงานด้านนี้โดยตรง อาจก่อให้เกิดความเสียหายให้กับโบราณสถานได้ จึงอยากให้กรมศิลปากรส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เข้าตรวจสอบ และรื้อถอนตามขั้นตอนวิธีที่ถูกต้อง โดยที่พักสงฆ์โคกปราสาทยินดีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและรื้อถอนทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มตามว่า ในการดำเนินการเข้ารื้อถอนนั้น เนื่องจาก นางสม ดอนสว่าง ได้อ้างสิทธิการครอบครองที่ดินตามเอกสาร สค.1 ในการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว มีการรังวัดขอออกโฉนดซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลจังหวัดพิมาย ทำให้การเข้าดำเนินการในพื้นที่อาจเข้าข่ายบุกรุกได้ จึงได้มีการประสาน สปก.นครราชสีมา ในการขอเข้ารังวัดพื้นที่ ส.ป.ก. เนื่องด้วยที่ดินแปลงดังกล่าวมีการระบุว่าเป็นที่ดิน ส.ป.ก.แปลงเลขที่ 7 กลุ่มที่ 1129 เนื้อที่ 110-0-05 ไร่ เป็นที่หวงห้ามเฉพาะโบราณสถาน ไม่สามารถจัดที่ดินให้แก่บุคคลใด ซึ่งถ้าหากการรังวัดออกมาว่ามีการก่อสร้างอาคารบุกรุกที่ ส.ป.ก.จะได้ทำหนังสือขับไล่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าปฏิบัติงานรื้อถอนอาคารได้โดยสะดวก