xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) เปิดหลักฐานโบราณวัตถุ 4 ชิ้นปราสาทหินพันปีโคราชสูญหาย หลังที่พักสงฆ์สร้างอาคารคร่อมทับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เปิดหลักฐานโบราณวัตถุ 4 ชิ้น โบราณสถานปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน โคราช อายุพันปี สูญหายหลังที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาท สร้างอาคารศาลาปฏิบัติธรรมคร่อมทับกลางปราสาท ล่าสุดทางคดีพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนอัยการพิมาย โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาตลอดทุกข้อกล่าวหา


                               

วันนี้ (13 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาท สร้างอาคารศาลาปฏิบัติธรรมคร่อมทับลงกลางปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา สืบเนื่องมาจากการที่นางสาวนลิน โรจนวัทธิกร ตัวแทนผู้รับมอบสิทธิชุมชน จากชาวบ้านบ้านหลุ่งตะเคียน และบ้านตะเคียนทองกว่า 720 คน ได้นำเอกสารพร้อมพยานหลักฐานเข้าแจ้งต่อสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ถึงการเข้ามาบุกรุกก่อสร้างอาคารในพื้นที่โบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้โบราณวัตถุหลายชิ้นสูญหายหรือถูกเคลื่อนย้ายไปจากจุดเดิม




สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้มอบหมายให้นางสาวเบญจวรรณ พลประเสริฐ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพลับพลา กับพระฉลวย ไร่พิมาย ผู้ดูแลที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาท และพวกในฐานความผิด ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างในเขตโบราณสถาน ถือเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สภาพโบราณสถาน และเป็นการบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และการดำเนินการใดๆ ในเขตโบราณสถาน ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร และข้อหา เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้ง โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างเป็นเจ้าของได้ และเบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่น

ก่อนหน้านี้ทางผู้เชี่ยวชาญจากสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายยังไม่สามารถเข้าตรวจสอบโบราณวัตถุที่ตัวแทนชาวบ้านแจ้งได้โดยละเอียด เนื่องจากมีอาคารปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ปลูกค่อมทับอยู่ ถึงแม้อธิบดีกรมศิลปากรจะได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารหลังดังกล่าวออกไปแล้ว แต่ทนายที่พักสงฆ์ฯ ได้ยื่นศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองคำสั่งรื้อถอนไว้ชั่วคราว ทำให้เจ้าหน้าที่จึงเกรงว่าอาจจะโดนดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกได้ จึงได้รอจนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดสั่งยกอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองการรื้อถอน จึงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าพื้นที่ตรวจสอบได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น




เบื้องต้นโบราณวัตถุที่ชาวบ้านไม่พบตามภาพถ่ายที่เคยปรากฏก่อนที่ที่พักสงฆ์จะเข้ามาบุกรุกก่อสร้าง ได้แก่ ชิ้นที่ 1 เป็นประติมากรรมรูปเคารพบุคคลในลักษณะคล้ายท่านั่ง แต่เนื่องจากประติมากรรมอยู่ในลักษณะผุพังจึงไม่สามารถบ่งบอกรูปร่างได้ชัดเจน ซึ่งปรากฏในภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2560 ซึ่งประติมากรรมชิ้นนี้ พระฉลวยได้ยอมรับในที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ว่าเป็นคนขุดพบเองในขณะก่อสร้างอาคารที่พักสงฆ์ แล้วใช้เงิน 30,000 บาทในการแกะสลักต่อเติม จนเป็นรูปเคารพฤาษีองค์ปัจจุบัน

ส่วนชิ้นที่ 2 เป็นแผ่นหินที่วางซ้อนอยู่ด้านบนแท่นประทับภายในอาคารประธาน โดยแผ่นหินชิ้นดังกล่าวปรากฏในภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2555 แต่ปัจจุบันจากการตรวจสอบก็ไม่พบเช่นกัน




ชิ้นที่ 3 เป็นก้อนหินใหญ่บริเวณด้านข้างตัวประสาท ที่ชาวบ้านมักจะมาถ่ายรูปคู่ด้วยเป็นประจำ ปรากฏในภาพถ่ายอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีของชาวบ้าน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการเคลื่อนย้ายก้อนหินไปประดับไว้โดยรอบอาคารปฏิบัติธรรม

ชิ้นที่ 4 เป็นหินสลักนาคปลายหน้าบันที่อยู่ในห้องครรภคฤหะอาคารประธาน โดยจากการเดินสำรวจพบว่าได้ถูกเคลื่อนย้ายไปรวมอยู่กับเศษหินที่กองดินด้านทิศใต้ของตัวปราสาท ซึ่งในทางคดีขณะนี้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพลับพลาได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการพิมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาตลอดทุกข้อกล่าวหา




ส่วนการดำเนินการติดตาม ค้นหา โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ยังหาไม่พบ กรมศิลปากรจะได้ขุดค้น ขุดแต่ง พื้นที่โดยรอบโบราณสถานภายหลังจากมีการรื้อถอนอาคารศาลาปฏิบัติธรรมที่ถูกคร่อมทับออกไปได้แล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น