xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) ก.คมนาคมย้ำชัด! รถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองโคราชยกระดับทั้งหมด-ไม่แยกเมือง ยืนยันไม่ทุบสะพานสีมาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รมช.กระทรวงคมนาคมย้ำชัดแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช เป็นทางยกระดับสูง 8 เมตรทั้งหมด ไม่แบ่งแยกตัวเมืองออกเป็นสองฝั่ง ไม่ทำน้ำท่วมและยืนยันไม่ทุบสะพานสีมาธานี โดยได้ข้อสรุป 2 แนวทางให้ชาวโคราชเลือก ฝากผู้นำในจังหวัดฯ ชี้แจงทำความเข้าใจกับ ปชช.ในพื้นที่ 

วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และตัวแทนจากภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมา เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หอการค้าจังหวัดฯ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง, ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง เข้าร่วมประชุมฯ ด้วย ที่ กระทรวงคมนาคม เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.)



นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การหารือกับกลุ่มผู้แทนภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมาในครั้งนี้ เพื่ออธิบายความจริง ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อให้กลุ่มผู้นำในจังหวัดฯนำไปสื่อสารชี้แจงและทำความเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับทราบ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
โดยแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาทั้งหมด จะเป็นทางยกระดับสูง 8 เมตร ประชาชนทั้งสองฝั่งทางรถไฟสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก โดยใช้ทางลอดใต้ทางรถไฟ ซึ่งไม่เป็นการแบ่งแยกตัวเมืองออกเป็นสองฝั่ง การก่อสร้างไม่ได้ทำให้น้ำท่วมตัวเมืองอย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนที่ผ่านตัวเมืองบริเวณสะพานสีมาธานี รฟท.ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการก่อสร้าง โดยสรุปได้ 2 แนวทาง ดังนี้


1. ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ลอดใต้สะพานสีมาธานี ซึ่งจะมีช่วงระยะทางรถไฟลดระดับลงลอดใต้สะพานสีมาธานี และขึ้นไปเป็นทางยกระดับ ประมาณ 1,600 เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี

2. ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับข้ามสะพานสีมาธานี โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี แนวทางนี้ รฟท.ชี้แจงว่าอาจส่งผลกระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ที่ขบวนรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดที่สถานีโคราชและรถไฟทางคู่ เมื่อยกระดับข้ามสะพานสีมาธานีแล้วไม่สามารถลดระดับเพื่อหยุดที่สถานีโคราชได้ เนื่องจากระยะทางไม่เพียงพอ ซึ่งอาจต้องย้ายสถานีโคราชไปอยู่ที่เหมาะสม หรืออาจยกระดับผ่านสถานีโคราชแล้วลดระดับเข้าสู่สถานีจิระแทน


“ได้มอบให้ รฟท.ดำเนินการออกแบบเป็นภาพกราฟิกทั้ง 2 แนวทางโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ และนำทั้ง 2 แนวทางมาหาข้อสรุปร่วมกันในการประชุมครั้งต่อไปอีกครั้ง เพื่อให้ผู้นำในจังหวัดนครราชสีมาเห็นภาพที่ชัดเจน และนำไปสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้” นายสุรพงษ์กล่าวในตอนท้าย














กำลังโหลดความคิดเห็น