xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเอา “มันสำปะหลัง” บังหน้า ปั่นราคาข้าวโพด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย สมรรถพล ยุทธพิชัย

กรณีการคัดค้านยกเลิกมาตรการ 3:1 ของพ่อค้าพืชไร่ที่นำเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมาร้องเรียนรัฐฯ ว่า การนำเข้าข้าวสาลีมาผลิตอาหารสัตว์มีผลให้ราคามันสำปะหลังตกต่ำ เกิดเป็นข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะเมื่อศึกษาข้อเท็จจริงเบื้องต้นก็พบว่าในปี 2566 ที่มีการนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มขึ้น ราคามันสำปะหลังในปีนั้นก็สูงขึ้นอย่างมาก และประเด็นสำคัญคือ มันสำปะหลัง ไม่ใช่พืชวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ ทั้งยังเป็นพืชที่มีการนำเข้า-ส่งออกได้อย่างเสรี เรียกได้ว่าแทบไม่มีผลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวสาลีเลย จึงเป็นไปได้มากว่า มันสำปะหลังถูกนำมาบังหน้าเพื่อจุดประสงค์เบื้องหลังบางอย่าง


เมื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของราคามันสำปะหลังทีละประเด็น ก็พบสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้

1.) ราคามันสำปะหลังเส้นในปี 2567 นี้ไม่ได้ตกต่ำ เป็นเพียงแค่ราคาอ่อนตัวลงจากปี 2565 และปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศจีนฟื้นตัวจากโควิด ทำให้การส่งออกมันสำปะหลังเส้นและผลิตภัณฑ์ในสองปีนั้นมีมากขึ้น นอกจากนี้ ราคามันเส้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ในระดับ 8.74 บาท/กก. สูงกว่าปี 2562-2564 ตั้งแต่ 1 บาท ถึง 1.50 บาท/กก.

2.) มันสำปะหลังไม่ใช่วัตถุดิบหลักของอาหารสัตว์ ปกติการผลิตอาหารสัตว์จะมีสัดส่วนการใช้มันสำปะหลังเส้นเพียง 1-1.5 ล้านตันต่อปี หรือราว 5% ของการผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมด 20 ล้านตัน/ปี เนื่องจาก มันสำปะหลัง เป็นพืชที่มีแป้งสูง แต่มีโปรตีนต่ำเมื่อเทียบกับข้าวโพด ข้าวสาลี ปลายข้าว จึงเป็นทางเลือกลำดับท้ายๆ ในการนำมาใช้ ที่สำคัญคือ มีข้อจำกัดในการใช้มาก ทำให้ไม่สามารถใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ได้ทุกชนิด เช่น

2.1 มันสำปะหลังมีค่ากากใยสูง หากใส่ในอาหารสัตว์มาก จะทำให้สูตรอาหารมีค่ากากเกินกว่าที่ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ไว้กับกรมปศุสัตว์

2.2 มักพบเชื้อ Clostridium Perfringens ที่อยู่ในดินปะปนมากับหัวมันสำปะหลัง ทำให้สัตว์ได้รับเชื้อและเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและป่วยได้


2.3 ถ้าใช้ในปริมาณที่มากในสูตรอาหารสุกรจะมีผลต่อคุณภาพซากสุกรชำแหละ ทำให้มันแข็งสีขุ่น ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

3.) สาเหตุหลักที่ทำให้ราคามันสำปะหลังลดต่ำลง พบว่า

3.1 ประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังได้ประมาณ 30 ล้านตันหัวมันสด ไม่เพียงพอต่อการส่งออก รัฐจึงปล่อยให้สามารถการนำเข้าโดยเสรีไม่มีการจำกัดจำนวน หรือเวลานำเข้า สองปีหลังสุด (2565-2566) ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังประมาณ 4 ล้านตัน/ปี ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากกัมพูชาและลาวโดยพ่อค้าพืชไร่ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีน โดยเกษตรกรไทยไม่ได้ประโยชน์ใดๆในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ในภาวะส่งออกไม่ดี ผู้เขียนเห็นว่า รัฐควรกำกับดูแลการนำเข้า และสนับสนุนให้ใช้มันสำปะหลังภายในประเทศก่อน เพื่อพยุงราคาช่วยเหลือเกษตรกรไทย

3.2 ประเทศจีน เป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังหลักของไทย หรือมากถึง 90% เมื่อจีนมีนโยบายชะลอการนำเข้ามันสำปะหลัง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบราคามันสำปะหลัง จากข้อมูลการส่งออกมันสำปะหลังเส้นในช่วงเดียวกัน พบว่าปริมาณส่งออกไปจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปริมาณส่งออกมันเส้น 66/67 (ต.ค. 66-ก.พ. 67) มีเพียง 0.57 ล้านตันลดลงเป็น 5 เท่าของการส่งออก ปี 65/66 (ต.ค. 65-ก.พ. 66) ที่มีการส่งออกอยู่ที่ 2.423 ล้านตัน


ส่วนการนำเข้าข้าวสาลีนั้น เชื่อมโยงกับข้าวโพดโดยตรง เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วนก่อนจึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน ปัจจุบันพ่อค้ากักตุนสต๊อกข้าวโพด ฮั้วกันปั่นราคาให้สูงขึ้น จึงแทบไม่มีข้าวโพดให้ซื้อในตลาด ส่งผลให้ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ด้วย จึงเป็นภาระหนักให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แบกรับในการหาวัตถุดิบได้ยากและแพง หากรัฐฯยกเลิกมาตรการ 3:1 จะทำให้พ่อค้าไม่สามารถกักตุนข้าวโพดเพื่อปั่นราคาได้ จึงหา "เครื่องมือ" มาอ้าง เพื่อให้รัฐยังคงมาตรการ 3:1 ไว้ น่าเสียดายที่เครื่องมือที่อ้างไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับข้าวสาลี ...

ถึงตรงนี้ต้องบอกว่า สงสาร "เกษตรกรมันสำปะหลัง" ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยไม่รู้ตัวและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อเกษตรกรเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น