คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ไฟเขียว 2 มาตรการ ชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต๊อกข้าวโพดให้ผู้รวบรวม 4% และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดโดยสถาบันเกษตรกร ให้รับภาระดอกเบี้ยแค่ 1% ที่เหลือรัฐชดเชยให้ เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 66/67 ที่จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ พ.ย.นี้ พร้อมตั้งอนุกรรมการกำกับดูแลการผลิตไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป้องกระทบการค้า
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการเพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 มาตรการ เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาให้เกษตรกร แม้ว่าผลผลิตปี 2566/67 ในภาพรวมจะมีน้อยกว่าความต้องการใช้ แต่เนื่องจากจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือน พ.ย. 2566 จึงต้องเตรียมมาตรการรับมือเอาไว้ และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
สำหรับ 2 มาตรการที่จะนำมาใช้ ได้แก่ 1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 เพื่อดูดซับอุปทานในช่วงออกสู่ตลาดมาก และเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้รวบรวม โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ 4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโครงการในปีที่ผ่านมาที่ 3% เนื่องจากในภาวะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้ปรับตัวสูงขึ้น 2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 เป็นการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันเกษตรกร โดยสถาบันฯ รับภาระดอกเบี้ย 1% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภาครัฐจะเป็นผู้ชดเชยให้
นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าในตลาดโลกให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยคาร์บอนอันจะทำให้เกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในอาหารไก่ ซึ่งไทยส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้น เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับการค้าโลก โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานร่วมกัน ที่จะมาทำหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริมการผลิตที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานและสอดคล้องกับการค้าโลก
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้สั่งการให้มีการตั้งวอร์รูม โดยให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ เอกชน และเกษตรกร ร่วมกันทำงานในเชิงรุก ในการติดตามสถานการณ์ กำกับดูแล ทั้งด้านการผลิต การตลาด การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ให้มีความสมดุล เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ โรงงานอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภค
ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในขณะนี้ ราคาอ่อนตัวเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีกิโลกรัม (กก.) ละ 10.15 บาท และสูงกว่าราคาเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา