xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับการลด PM 2.5 ภายใต้บทบาท 2 กระทรวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับการลด PM 2.5 ภายใต้บทบาท 2 กระทรวง

โดย ดำรง พงษ์ธรรม

นับเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด หรือแม้แต่การเร่งแก้ปัญหาในหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในแนวทางแก้ไขการก่อเกิดฝุ่นจากแปลงเพาะปลูกพืชเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มได้รับความสนใจและร่วมมือแก้ไขจริงจังแล้ว ในฝั่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อีกส่วนหนึ่งคือ “กระทรวงพาณิชย์” ฟันเฟืองสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงที่จะทำให้มาตรการของฝั่งกระทรวงเกษตรฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สะดุด ไม่กระทบเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ และการส่งออกอาหารไทยไปตลาดโลก

ขอเริ่มที่หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ด้วยความชื่นชมในสปิริตการทำงานของ “กรมปศุสัตว์” ที่กระตือรือล้นในการปรับปรุงแนวทางการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นโต้โผในการตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ไม่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงปลูก เพื่อสร้างเป็นมาตรฐานด้านการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice-GAP) พร้อมสนับสนุนให้โรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่งทำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด เพื่อให้มั่นใจได้จริงๆ ว่าข้าวโพดที่รับซื้อนั้นไม่ผ่านการเผาแปลง

ขณะที่ “กรมวิชาการเกษตร” ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 (PM 2.5 Free Plus) รวมถึง “สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ” หรือ มกอช. ได้จัดประชุมคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการผลิตพืชแบบไม่เผา โดยเริ่มที่สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมตั้งเป้าหมายให้เป็นมาตรฐานบังคับในอนาคต นับเป็นความร่วมมือที่จะสร้างมาตรฐานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งน่าชมเชยมาก

อย่างไรก็ตาม การหักดิบให้เกษตรกรทั้งประเทศงดเผาตอซังข้าวโพด หรือบังคับทันทีให้ทุกโรงงานอาหารสัตว์ทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเหมือนที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ทำ ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาได้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อน โดยเฉพาะเรื่องปริมาณหรือจำนวนที่จะต้องใช้ว่ามีเพียงพอที่จะไม่ทำให้กระบวนการผลิตต้องติดขัดหรือไม่

ชวนคิดกันเล่นๆ สมมติว่าประเทศไทยมีแปลงข้าวโพดที่ใช้วิธีเผาตอซังอยู่ประมาณ 10-20% ของพื้นที่ปลูก นั่นหมายความว่าจะมีปริมาณข้าวโพดที่ไม่สามารถซื้อมาใช้ได้ ประมาณ 0.5-1 ล้านตัน และอีกด้านหนึ่งการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านก็อาจต้องลดลงหรือนำเข้าไม่ได้เลย เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผ่านการเผาแปลงหรือไม่ ตัวเลขข้าวโพดจะหายไปอีก 1.5 ล้านตัน รวมแล้วประเทศไทยจะขาดแคลนข้าวโพดราวๆ 2-2.5 ล้านตัน

ทำอย่างไรจึงจะทำให นโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดจากแปลงเผาสามารถเดินหน้าต่อได้ ในขณะที่สายพานการผลิตอาหารสัตว์ของประเทศไม่สะดุด ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ที่จะต้องเพิ่มปริมาณวัตถุดิบจากแหล่งอื่นมาเติมเต็มส่วนที่หายไปดังกล่าว ด้วยการปลดล็อกมาตรการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน เช่น มาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 รวมถึงการยกเลิกโควตานำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO จากประเทศที่ห่างไกล ไม่มีพรมแดนติดกับไทย เพื่อตัดปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน (แต่ก็ยังต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่ได้มาจากแปลงที่ผ่านการเผา)

อีกประการสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดยุติการเผาแปลง ก็คือการรับประกันราคารับซื้อข้าวโพดขั้นต่ำให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด “เฉพาะแปลงที่พิสูจน์ได้ว่าไม่เผาเท่านั้น” จะเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้เกษตรกรทุกคนงดเว้นการเผา ลดปัญหา PM 2.5 ได้ตั้งแต่ต้นทาง

ในการแก้ปัญหา ต้องมีความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐานก่อนว่า ไม่มีใครอยากเผา ไม่มีใครต้องการให้มีควัน ไม่ต้องการให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการหายใจของลูกหลาน ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนมีความพยายามมากมายเพื่อลดปัญหาดังกล่าว เช่น โครงการสวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน หรือโครงการไม่เผาเราซื้อ หรือแม้แต่การผนึกความร่วมมือกับผู้รับซื้อข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวได้ว่า การสนับสนุนร่วมมือและช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ตามเป้าประสงค์การลดฝุ่นควัน

ยิ่งถ้ากระทรวงพาณิชย์ทำได้ตามนี้ คู่ขนานไปกับมาตรฐาน GAP ของกระทรวงเกษตรฯ รับรองว่าปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 จะได้รับการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ดีต่อสุขภาพคนไทยแน่นอน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่ต้องกังวลกับปริมาณคาร์บอนในห่วงโซ่การผลิต ลดความเสี่ยงในการถูกเรียกเก็บภาษีคาร์บอน (CBAM) ที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอาหารไทยในตลาดโลกลดลง

มีแต่ข้อดีแบบนี้ … ก็ขอรอชม “ความร่วมมือของสองกระทรวง” ด้วยใจจดจ่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น