xs
xsm
sm
md
lg

ล้งส่งออกทุเรียนเมืองจันท์นำร่องรับซื้อทุเรียนแก่ราคาสูงกว่าท้องตลาด จูงใจชาวสวน-มือตัดทำทุเรียนคุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี ​- ล้งส่งออกทุเรียนเมืองจันท์นำร่องรับซื้อทุเรียนแก่ราคาสูงกว่าท้องตลาด​พร้อมรับประกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จูงใจชาวสวน-มือตัดทำทุเรียนคุณภาพ ตัดขายเมื่อครบกำหนด ป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและปลายทางที่จีน 

จากกรณีสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จันทบุรี ได้เดินหน้าจัดอบรมและสาธิตวิธีการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนให้แก่เกษตรกร กลุ่มสายตัดทุเรียน รวมทั้งโรงคัดบรรจุ หรือล้งรับซื้อทุเรียนในจังหวัดภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด

รวมทั้งยังกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนแต่ละสายพันธุ์​เพื่อให้การตัดทุเรียนคุณภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ทุเรียนพันธุ์​กระดุมจะต้องมีปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน 27 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์พวงมณี และพันธุ์ชะนี 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพันธุ์หมอนทอง จะต้องไม่ต่ำกว่า 32 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งหากน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนต่ำกว่าที่กำหนดถือเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือเป็นทุเรียนอ่อน


ส่วนวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ.2567 ในแต่ละสายพันธุ์ เป็นดังนี้คือ ทุเรียนพันธุ์กระดุม วันที่ 15 เม.ย.67 พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี วันที่ 5 พ.ค.67 และพันธุ์หมอนทอง วันที่ 20 พ.ค.67

และหากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวและส่งออกทุเรียนก่อนถึงกำหนดวันเก็บเกี่ยว จะต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนกับเจ้าหน้าที่ในจุดที่ สวพ.6 กำหนดไว้ก่อน และหากผ่านเกณฑ์สามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้นั้น

ขณะที่สายตัดอริสระ หรือมือตัดทุเรียนรายหนึ่งใน จ.จันทบุรี ให้ความเห็นว่า มือตัดทุเรียนทุกคนต้องเคยพลาดตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดบ้างแต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่ประสบการณ์และความชำนาญของแต่ละคน ตั้งแต่เรื่องการดูสีผิว หนาม และขั้วทุเรียน รวมทั้งการใช้วิธีเคาะฟังเสียงว่าเนื้อทุเรียนหลวมหรือไม่

โดยการตัดทุเรียนแต่ละปีจะมีความยากง่ายไม่เหมือนกัน และทุเรียนยังมีหลายรุ่น ดังนั้นมือตัดจะต้องดูทุเรียนเป็นเพราะแต่ละรุ่นมีกำหนดเวลาตัดใกล้เคียงกันมาก จึงอาจทำให้มือตัดตัดทุเรียนข้ามรุ่นได้ จนเป็นที่มาของปัญหาทุเรียนอ่อน

สายตัดอริสระ หรือมือตัดทุเรียน
เช่นเดียวกับ นายสำอางค์ ปิ่นพงษ์ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนบ้านลิ้ว ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี บอกว่าตนทำสวนทุเรียนมานานกว่า 30 ปีในพื้นที่รวมหลายสิบไร่ และยังมีทุเรียนหลายสายพันธุ์ แต่ยืนยันว่าทุเรียนที่สวนจะถูกตัดออกขายต่อเมื่อครบกำหนดวันตัดเท่านั้น

"ที่ผ่านมาเคยมีนายหน้าเข้ามาติดต่อขอซื้อทุเรียนแต่เราได้ปฏิเสธการขายไปเพราะทุเรียนยังไม่สุกซึ่งหากปล่อยไปเมื่อถึงมือผู้บริโภคจะกินไม่อร่อย และส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย ซึ่งผลที่จะตามมาคือราคาทุเรียนที่อาจตกต่ำและคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ เกษตรกรชาวสวน ทั้งนี้ หากตัดทุเรียนที่ครบกำหนดวันเก็บเกี่ยวเกษตรกร​ไม่ต้องกังวลเรื่องของการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน" เกษตรกรชาวสวนทุเรียนบ้านลิ้ว กล่าว

นายสำอางค์ ปิ่นพงษ์ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนบ้านลิ้ว
ด้าน นายสมบัติ พูลพฤกศรี เจ้าของสวนลุงเอก จ.ตราด ได้ยืนยันเช่นกันว่าตนทำทุเรียนคุณภาพเพื่อขายให้ผู้ประกอบการส่งออกที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขาย โดยได้กำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนหมอนทองที่ 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าเกณฑ์​ปกติ 3 เปอร์เซ็นต์

และยังบอกอีกว่าผู้ประกอบการส่งออกที่รับซื้อทุเรียนคุณภาพ​ในราคาที่แพงกว่าท้องตลาดยังรับประกันความเสียหายกรณีการเกิดพายุลมแรง ในระหว่างที่ทุเรียนยังแขวนอยู่ที่ต้นจึงทำให้ตนไม่ต้องกังวลเรื่องราคาและเรื่องภัยธรรมชาติ

ขณะที่ นายธานินทร์ นิยม เจ้าของล้งเซียนโหลไท่ ผู้ส่งออกทุเรียนจันทบุรีไปประเทศจีนเผยว่า ล้งจะส่งออกเฉพาะทุเรียนเกรดคุณภาพเท่านั้น ซึ่งบริษัทจะรับซื้อเฉพาะทุเรียนที่มีตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนที่จะต้องเกินเกณฑ์​ที่ทางราชการกำหนด

"บริษัทยินดีจะรับซื้อทุเรียนในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด เพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน และหากพบสายตัดของบริษัทตัดทุเรียนอ่อนมาให้ สายตัดรายนั้นๆ จะถูกปรับตามจำนวนน้ำหนักทุเรียนที่ตัดมา เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนหลุดสู่ตลาด และที่สำคัญยังเป็นการนำร่องให้เกษตรกรหันมาทำทุเรียนคุณภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของราคา และภัยธรรมชาติ เพราะความต้องการทุเรียนของประเทศจีนยังมีอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะทุเรียนคุณภาพที่รสชาติอร่อยจากประเทศไทย" เจ้าของล้งเซียนโหลไท่ กล่าว

นายสมบัติ พูลพฤกศรี เจ้าของสวนลุงเอก จ.ตราด
ทั้งนี้ ปัญหาทุเรียนอ่อนจะพบมากในช่วงที่ราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้นจนทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทำทุเรียนบางรายไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร มือตัด และล้ง เร่งตัดทุเรียนที่ยังไม่ครบกำหนดวันการเก็บเกี่ยวออกขาย รวมทั้งการตัดข้ามรุ่น หรือการตัดเบียด ซึ่งเมื่อทุเรียนเหล่านี้ถูกส่งไปประเทศปลายทางไม่สามารถกินได้ หรือรสชาติไม่อร่อยเท่าทุเรียนสุก

และอีกปัญหาของการมีทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดคือ การเกิดพายุฤดูร้อนที่ทำให้เกษตรกรมักรีบตัดผลผลิตเพื่อหนีลมกระโชกแรง และไม่กล้าแขวนทุเรียนไว้บนต้น เนื่องจากเกรงว่าลมพายุจะพัดเหมาทั้งสวน จึงทำให้มีทุเรียนไม่ครบกำหนดวันตัดออกสู่ตลาด



นายธานินทร์ นิยม เจ้าของล้งเซียนโหลไท่ ผู้ส่งออกทุเรียนจันทบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น