xs
xsm
sm
md
lg

ผวจ.เชียงใหม่ยันทำเต็มที่เร่งแก้ไฟป่าฝุ่นพิษ-แพทย์ย้ำพร้อมดูแลประชาชนหลังผู้ป่วยพุ่งสูงกว่าปีก่อนเกินเท่าตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ เชียงใหม่นำแถลงยืนยันทำเต็มที่เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า แต่พื้นที่ป่ามากที่สุดในประเทศเป็นอุปสรรคทำให้ควบคุมเผาได้ยาก แถมเจอฝุ่นควันข้ามแดนซ้ำเติม ขณะที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่เผยยอดผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าเท่าตัว และชี้เป็นปัจจัยกระตุ้นมะเร็งปอด ด้าน สสจ.ลุยมาตรการเชิงรุกดูแลสุขภาพประชาชน


วันนี้ (8 เม.ย. 67) ที่ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน อาคารบุญสม มาร์ติน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ นเรนทร์ โชติรสนฤมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, นายแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และนายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวการปฏิบัติการทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข เพื่อรักษาผู้ป่วยทางเดินหายใจและกลุ่มเปราะบางที่ผ่านมา รวมทั้งมาตรการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า โดยสามารถควบคุมไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นให้ดับภายใน 1 วัน หรือเร็วที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ 80-90% เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากต่อการป้องกัน ขณะเดียวกันยอมรับว่าในช่วงนี้จังหวัดเชียงใหม่มีจุดความร้อนจากไฟไหม้ป่าในแต่ละวันเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเผาในประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนมากวันละหลายพันจุด จึงส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ฝุ่นควันและมลพิษอากาศสูงเกินค่ามาตรฐานค่อนข้างหนักและเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังทำงานเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว พร้อมทั้งปกป้องและดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างดีที่สุด


ขณะที่ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน โดยข้อมูลสถิติผู้ป่วยในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่พบว่าในช่วงที่ผ่านมาของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จำนวนผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ทั้งระบบหายใจ หัวใจ ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน และอื่นๆ จนเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้น 1.6 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ามีความพร้อมในการดูแลประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนืออย่างเต็มประสิทธิภาพ

ส่วนประเด็นที่ภาคเหนือมีสถิติผู้ป่วยมะเร็งปอดมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และลำปางนั้น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทำให้เชื่อได้ว่าฝุ่น PM 2.5 น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลกระตุ้นการเกิดมะเร็ง ผนวกกับปัจจัยอื่นด้วยทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนจะต้องป้องกันตัวเองในช่วงที่เกิดสถานการณ์ปัญหาด้วยการหลีกเลี่ยงการออกทำกิจกรรมกลางแจ้งและอยู่ในบ้านหรืออาคารที่ปิดมิดชิด รวมทั้งควรใช้เครื่องฟอกอากาศช่วยด้วย หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้สวมใส่หน้ากากป้องกันและจำกัดเวลาให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ควรงดการเผาทุกชนิดด้วยเพื่อลดแหล่งกำเนิดฝุ่นควัน


ด้านนายแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนใน 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบและกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื่องรังแบบเฉียบพลัน จากการรวบรวมข้อมูลจากผู้มารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ (1 มกราคม 2567-6 เมษายน 2567) เปรียบเทียบผู้ป่วยปี 2566 และปี 2567 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผู้ป่วยมารับบริการ 57,714 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 19,182 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 24.95 โรคผิวหนังอักเสบ 2,195 ครั้ง เพิ่มขึ้น 109 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 5.23 โรคตาอักเสบ 2,502 ครั้ง เพิ่มขึ้น 107 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 4.47 และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน 2,691 ครั้ง ลดลง 409 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 13.19

สำหรับมาตรการจัดการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข(เชิงรุก) ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยมีจำนวนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มเด็ก(0-5 ขวบ) 101,837 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3,339 ราย ผู้สูงอายุ 249,363 ราย กลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) 16,143 ราย และได้ดำเนินการกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพและช่วยเหลือประชาชน แจกหน้ากากป้องกันฝุ่นและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลการดำเนินงาน 225 ครั้ง (ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม-6 เมษายน 2567) มีผู้มารับบริการ 9,817 ราย กิจกรรมเยี่ยมบ้าน “เคาะประตูให้ความรู้ แจกหน้ากากสู้ฝุ่นPM2.5 ในชุมชน” ติดตามการเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยในชุมชนด้วยทีม 3 หมอ จำนวน 11,720 ราย แจกหน้ากาก ทั้งหมด 153,557 ชิ้น


นอกจากนี้ยังได้ให้ทุกอำเภอเตรียมความพร้อมเรื่องการสำรองเวชภัณฑ์ยา /หน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับผู้ป่วย ให้บริการคลินิกมลพิษ เปิดให้บริการ 25 โรงพยาบาล มีผู้มารับบริการ จำนวน 410 ราย และคลินิกมลพิษออนไลน์ มีผู้มารับบริการ จำนวน 53 ราย จัดทำห้องลดฝุ่นสำหรับประชาชน ทั้งหมด 1,466 ห้อง (ภาครัฐ 1,408 ห้อง และภาคเอกชน 58 ห้อง) ห้องลดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุขครบ 100% และศูนย์พัฒนาเด็กในจังหวัดเชียงใหม่ 516 แห่ง ดำเนินการจัดทำห้องลดฝุ่นไปแล้ว 416 แห่ง ขณะเดียวกันยังได้ ถ่ายทอดความรู้และประสานงาน อปท. ในการสนับสนุน มุ้งลดฝุ่นให้กับผู้ป่วยกลุ่มยากไร้ในพื้นที่ทุกพื้นที่ รวมถึงการบริการตรวจสุขภาพให้กับอาสาดับไฟ ก่อนออกปฏิบัติงาน โดยดำเนินการเสร็จสิ้นทั้ง 25 อำเภอ ผลการตรวจ 9,799 ราย พบว่า ผลปกติ 9,411 ราย และผลผิดปกติ 388 ราย

ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชนดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ในช่วงสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 มีปริมาณเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากปริมาณเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เพราะฉะนั้นการรู้วิธีรับมือที่ถูกต้องและปฏิบัติทันทีจะช่วยร่างกายไม่โดนฝุ่นพิษทำร้ายจนรุนแรง โดยขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 หมั่นทำความสะอาดบ้าน และโรงเรียนให้สะอาดห้องปลอดฝุ่น ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละออง พัดเข้ามาในบ้าน ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้ง เลี่ยงการออกนอกอาคารถ้าไม่จำเป็น หยุดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมในที่โล่งควรลดเวลาให้สั้นที่สุดและสวมหน้ากาก เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว คือกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยได้ง่าย ต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นพิษได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก รีบพบแพทย์ทันที




กำลังโหลดความคิดเห็น