"ภาคเหนือ" วิกฤต ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงต่อเนื่อง จิตแพทย์ห่วงเพิ่มความเครียด วิตกกังวล จากค่าฝุ่นและต้องงดกิจกรรมนอกบ้าน แนะเช็กสภาพอากาศ เช็กอินความรู้สึกตนเองผ่าน Mental Health Check in ประเมินเครียด ซึมเศร้า วิธีรับมือ หากรู้สึกหงุดหงิดให้ทำอะไรช้าลง 5-10 นาที ด้านกรมอนามัย แนะวิธีทำห้องปลอดฝุ่น - มุ้งสู้ฝุ่น
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ วันที่ 8 มี.ค. 2567 พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก โดยมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดเท่ากับ 163.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในพื้นที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาประกอบกับพบจุดความร้อนในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ พบผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) มีอัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศกว่า 2,644 ต่อแสนประชากร โดยส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ รองลงมา คือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
นพ.อรรถพล กล่าวว่า กรมอนามัย แนะนำวิธีทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง โดยปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง เพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ กำจัดอนุภาคของฝุ่นละอองที่อยู่ภายในห้อง หรือใช้เครื่องเติมอากาศ เพื่อเติมอากาศสะอาดเข้าไปให้ห้อง ซึ่งควรอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง หากเป็นบ้านที่มีรูรั่วหรือมีช่องลมจำนวนมาก อาจใช้มุ้งสู้ฝุ่น โดยใช้มุ้งผ้าฝ้าย และใช้เครื่องเติมอากาศ ส่งอากาศสะอาดเข้ามุ้ง ซึ่งช่วยลดปริมาณฝุ่นได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมาใช้บริการห้องปลอดฝุ่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้หน่วยบริการสาธารณสุขจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นให้บริการเพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 จำนวนทั้งหมด 2,690 ห้อง ใน 41 จังหวัด สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษาและสถานที่เอกชนจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นอีกกว่า 1,000 ห้องทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือ ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน สามารถดูข้อมูลห้องปลอดฝุ่นและมุ้งสู่ฝุ่นได้ที่เว็ปไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th
“สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสีแดง ขอให้งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องออกภายนอก ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเลือกหน้ากากที่มีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้าและสวมใส่ให้กระชับ หากรู้สึกอึดอัดอาจเข้าไปในอาคารและถอดหน้ากากก่อน และหากสีของหน้ากากเปลี่ยนสีไปจากเดิมหรือฉีกขาดให้เปลี่ยนหน้ากากชิ้นใหม่ทันที หากมีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ หรือใช้บริการพบแพทย์ของคลินิกมลพิษในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือผ่านแอพพลิเคชั่น DMS Telemedicine ของกรมการแพทย์ได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ และผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่ทวีความรุนแรงอย่างมากในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ มีอาการแสบตา แสบจมูก น้ำมูกไหล ผื่นขึ้นตามตัว รวมถึงด้านสุขภาพจิต ประชาชนมีความเครียดที่ไม่สามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ในการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นละออง เน้นย้ำประชาชนตระหนักแต่ไม่ตระหนกจากการเสพข่าวสาร เพื่อลดความเสี่ยงจากความเครียด
"รู้สึกเห็นใจพี่น้องประชาชนภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภาวะฝุ่น PM 2.5 ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูร้อนก่อนเข้าสู่ฤดูฝน หลายคนจัดการบรรเทาปัญหา เช่น ฉีดน้ำ ใส่หน้ากาก ป้องกันตนเอง งดกิจกรรมเสี่ยง ซึ่งเป็นการรับมือกับสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือการเปลี่ยนแปลงรอบตัวที่อาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลได้ โดยอากาศร้อนหรือปัญหาฝุ่นควัน อาจส่งผลต่อความเครียดและความวิตกกังวลที่ต้องดูแลตนเอง นอกจากนี้สภาพอากาศยังส่งผลทางอ้อมกับผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ที่อาจต้องสูญเสียรายได้ หรือขาดรายได้ ก็ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นได้" นพ.กิตต์กวีกล่าว
นพ.กิตต์กวีกล่าวว่า อันดับแรก ขอให้ประชาชนวางแผนเช็คสภาพอากาศ เพื่อกำหนดกิจกรรมที่เหมาะสม ต่อมาคือเช็คอินความรู้สึกตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่สามารถตรวจวัดอารมณ์ได้ว่าเครียดมาก เครียดน้อย หากเครียดจนนอนไม่หลับ กินไม่ได้ ถ้าเกิน 1 หรือ 2 สัปดาห์ขึ้นไปหรือความเครียดยังสูงจนรบกวนชีวิต ควรต้องขอความช่วยเหลือแล้ว โดย “พิมพ์คำว่า Mental Health Check In” ข้อมูลจะขึ้นมาใน Google เป็นเว็บที่สามารถเข้าไปประเมินจิตใจตัวเองได้ ประเมินตั้งแต่เรื่องของความเครียด ซึมเศร้า และภาวะที่จะรับมือกับตัวเองว่า เรามีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาความเครียดแค่ไหน รวมทั้งความคิดทำร้ายตัวเอง ตรงนี้ก็จะเป็นตัวที่ประเมินได้เหมือนกัน และสามารถขอคำปรึกษาช่วยเหลือได้ผ่าน Mental Health Check In ว่าต้องการความช่วยเหลือจากบุคลากรสุขภาพจิตหรือไม่เป็นช่องทางที่ดีในการขอคำปรึกษาหรือติดต่อได้ หรือขอรับคำแนะนำได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลสวนปรุง พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือโทรสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
"ถ้าต้องออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นตลอดเวลา งดออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงนี้ อยู่ในบ้านควรปิดประตูหน้าต่าง เปิดแอร์ พัดลม หรือเครื่องฟอกอากาศ หากมีความรู้สึกหงุดหงิด ให้ทำอะไรช้าลง 5-10 นาที เช่น เดินไปนั่งดื่มน้ำ 1 แก้ว หรือตามเทคนิคของแต่ละคนหรือสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบลง โดยไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรที่รุนแรงหรือใช้อารมณ์ อยากให้ประชาชนผ่านพ้นไปด้วยความมีสติ ไม่หมกมุ่นเสพข่าวสารจนเครียด เพราะยุคนี้ข่าวสารหลั่งไหลในโลกโซเชียลมากต้องมีสติดูแลทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจไปพร้อมกันเพราะว่าทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน สุขภาพคือชีวิต สุขภาพจิตคือชีวา" นพ.กิตต์กวีกล่าว