เชียงใหม่ - สุดเศร้า! มะเร็งปอดคร่าชีวิตคณาจารย์ ม.เชียงใหม่ แล้วอย่างน้อย 4 ราย ทั้งๆ ที่ไม่ประวัติการสูบบุหรี่ เบื้องต้นเชื่อสาเหตุมาจากพิษฝุ่นPM2.5 ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานของจังหวัดเชียงใหม่ โดยรายล่าสุดเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งสามีหวังเป็นกรณีตัวอย่างให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาจริงจัง ด้าน “หมอหม่อง” อาจารย์คณะแพทย์ มช.ยกผลวิจัยชี้ชัดการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ปัญหาฝุ่นPM2.5 เกินค่ามาตรฐานทำโอกาสเสี่ยงมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นหลายเท่า
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าและมลพิษอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงเลวร้ายต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นเครือข่ายผู้ฟ้องคดีฝุ่น ได้ร่วมกันแถลงการณ์ประกาศ เชียงใหม่เมืองมลพิษทางอากาศ พร้อมเรียกร้องประชาชนในภาคเหนือที่เผชิญฝุ่น PM2.5 ร่วมกันประกาศเขตมลพิษ หลังรัฐบาลเมินอ้างกลัวกระทบท่องเที่ยว
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี สำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุรายนามคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด โดยมีข้อความว่า “รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
มีนาคม 2565 .. รองศาสตราจารย์.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กันยายน 2566 .. รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ..ท่านริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.
ธันวาคม 2566 .. นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมษายน 2567 .. ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5 ????”
ด้านเพจเฟซบุ๊ก “Faculty of Architecture, Chiang Mai University” โพสต์แสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตของศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยข้อความระบุว่า “ด้วยรักและอาลัยยิ่ง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิธีสวดอภิธรรม วันที่ 4-5 เมษายน พ.ศ.2567 เวลา 19.30 น ณ ศาลาปฏิบัติธรรม วัดสวนดอก พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่วัดสวนดอกพระอารามหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมได้รับการเปิดเผยจากนายจิตรกร โอฬารรัตน์มณี สามีของ ดร.ระวิวรรณ ว่า ภรรยาได้เริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ตอนแรกคิดว่าภรรยาป่วยเป็นลองโควิด แต่ช่วงหนึ่ง ดร.ระวิวรรณ ได้มีอาการไอ และมีเลือดติดออกมาจึงตัดสินใจเข้าตรวจสุขภาพที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4
หลังจากนั้นทางแพทย์เจ้าของไข้จึงได้วางแนวทางในการรักษาเริ่มจากการหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดดังกล่าวว่ามาจากอะไรโดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจวิเคราะห์ และพบว่าน่าจเป็นผลจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนส์ ซึ่งยีนส์กลายพันธุ์ดังกล่าวนี้มักจะเกิดผู้หญิงเอเชีย ดังนั้นจึงอยากจะฝากวิงวอนถึงรัฐบาลให้จริงจังกับการแก้ไขปัญหาPM2.5 ที่มีมานานแล้ว และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง โดยอยากให้กรณีของ ดร.ระวิวรรณ เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้เกิดผลมากที่สุดเพื่อลดความรุนแรงของปัญหา สำหรับการบำเพ็ญกุศลศพ ดร.ระวิวรรณ นั้น จะจัดคืนนี้เป็นวันสุดท้าย จากนั้นในวันพรุ่งนี้(6 เม.ย.67) ตัวและครอบครัวจะมอบร่าง ดร.ระวิวรรณ ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อไปตามที่ ดร.ระวิวรรณ เคยตั้งใจไว้
ด้านนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ และหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีข่าวร้ายเกี่ยวกับการเสียชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 4 ราย จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีปัญหาฝุ่นPM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานเรื้อรัง กลับพบผู้ป่วยโรคมะเร็งมีสัดส่วนที่สูงมากกว่าที่อื่น
ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศพบว่าการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 ในระดับที่ไม่ปลอดภัยเป็นระยะเวลานานมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ที่ทำให้มีโอกาสที่เกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นอย่างมาก เพียงระยะเวลา 2-3 ปีก็มีความเสี่ยงแล้ว ซึ่งฝุ่นPM2.5ไม่ได้พียงส่งผลกระทบระยะสั้นแค่แสบตา ตาแดง แสบจมูกเท่านั้น แต่ยังเกิดการสะสม และส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างรุนแรงด้วย ทั้งโรคมะเร็งปอด,โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง.