xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.อยุธยาเดินหน้าสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระนครศรีอยุธยา - ป.ป.ช.อยุธยา เดินหน้าสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต หลังผลดัชนีการรับรู้การทุจริตประกาศประเทศไทยได้ 35 คะแนน จาก 100 คะแนน

วันนี้ (29 ก.พ.) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการ STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการสมาชิกชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต โดยมีคณะกรรมการชมรม STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัด และเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 100 คน

พร้อมร่วมรับฟังบรรยายพิเศษหัวข้อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน กับการป้องกันการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โมเดล STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต การแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม การจับตามองและแจ้งเบาะแส รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้

นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ กล่าวว่า ภารกิจของ ป.ป.ช. จะมุ่งเน้น “ป้องนำปราบ” คือ การป้องกันการทุจริต ป้องกันความเสียหาย สร้างจิตสำนึกค่านิยมซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อลดเรื่องร้องเรียน ผู้กระทำความผิด และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการทุจริต ดังนั้น จึงมี “ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือศูนย์ CDC” ขึ้น

เพื่อยับยั้ง ป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในประเทศ เฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต วิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงการทุจริต และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเฝ้าระวังการทุจริต เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้าศูนย์ CDC กรณีเกิดเหตุพื้นที่ใด สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดในพื้นที่นั้นจะลงพื้นที่ทันที

พร้อมเผยแพร่ผลการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทุจริตของประชาชนและเป็นการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ล่าสุด องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2566 ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จาก 100 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก จาก 180 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงการทุจริตเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมมือป้องกันการทุจริต ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง

น.ส.ภัคศรัณย์ โอสถสงเคราะห์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต กล่าวเสริมว่า  ป.ป.ช.  ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงตน ปรับฐานความคิด  สร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการป้องกันการทุจริต นำไปสู่การป้องกันการทุจริตเชิงรุก ภายใต้กรอบแนวคิด STRONG จนพัฒนาเป็นวัฒนธรรมต้านทุจริต ประกอบด้วย S = Sufficient ความพอเพียง  T = Transparent ความโปร่งใส  R = Realise ความตื่นรู้ O = Onward มุ่งไปข้างหน้า N = K(N) owledge ความรู้ G = Generosity ความเอื้ออาทร 

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะขยายผลการนำโมเดล STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริตไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนถึงการดำรงตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และนำไปสู่การเป็นเครือข่ายจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) ต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น