ศูนย์ข่าวขอนแก่น - คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ร่วมขับเคลื่อนโครงการแซนด์บอกซ์การผลิตกำลังคน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ มุ่งปลดล็อกประเทศ ผลิตกำลังคนพร้อมเข้าทำงานในอุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronics
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 (En 18410) อาคาร 50 ปี วิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม Campus Tour ในโครงการแซนด์บอกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “Semiconductor and Advanced Electronics” ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 5 โดยมี รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และ ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย และประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก เป็นประธานในพิธีเปิด
มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้บริหารสถาบันเครือข่าย ผู้บริหารบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมนักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ทั้ง Onsite และ Online เป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า แนวคิดของการจัดทำโครงการแซนด์บอกซ์การผลิตกำลังคน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อปลดล็อกประเทศไปสู่อุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronics ว่าสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งดำเนินการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา โดยเฉพาะจัดกระบวนทัศน์ใหม่ ที่อธิการบดีพยายามขับเคลื่อนทั้งองค์ประกอบของหลักสูตร รวมทั้งการจัดการศึกษาตลอดชีวิต การทำหลักสูตรใหม่ๆ
โดยเฉพาะเครื่องมือการศึกษาตลอดชีวิต การทำ Coop+ อาจจะมีบางรายวิชาสามารถนำมาประกาศเป็น Life Long Learnning เพื่อให้นักศึกษามีความยืดหยุ่นในการทำ Coop+ได้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนให้การขับเคลื่อนโครงการประสบความสำเร็จ
ขณะที่ ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย และประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเฟสที่ 1 เพื่อก้าวเข้าสู่เฟสที่ 2 ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น สาเหตุที่ต้องเป็นโครงการ Sandbox เพราะเรากำลังจะพลิกโฉม เราต้องการชวนบริษัทชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะถือว่าบริษัทเหล่านี้จะสร้างงานที่มั่นคง ยั่งยืน ทำให้คนไทยเป็น Global Citizen มีรายได้สูง มีงานที่ท้าทาย มีงานที่สนุก มีสภาวะในบริษัทที่น่าอยู่ น่าทำงาน นี่คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญของ Sandbox
ขณะนี้ชักชวนมาได้สำเร็จแล้ว เราจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สมัครเข้าร่วมโครงการ แต่ชั้นปีที่ 4 ก็สามารถสมัครได้ โดยทุกคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และสเต็มทั้งหมดสามารถสมัครได้ หลังจากนั้นเราจะทำการคัดเลือกเพื่อให้ผู้ผ่านการคัดเลือกได้ฝึกงานเชิงลึกเป็นระยะเวลา 6-9 เดือนกับบริษัทที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือ นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์จริงอย่างเข้มข้น และได้รับค่าตอบแทน ได้รับมอบหมายโปรเจกต์ที่ท้าทาย
และจะเป็นการพิสูจน์ว่าการเรียนวิชาการกับมหาวิทยาลัยมาตลอด 3 ปีเต็ม ว่าเรียนมาเพื่ออะไร เอาไปทำอะไร เราจะพบกับคำตอบว่าเสี้ยวหนึ่งของชีวิต สิ่งที่เราเรียนมาสามารถสร้างอิมแพกต์ให้กับสังคม ประเทศและให้กับโลกนี้ได้อย่างไร เราจะเป็นคนที่มีคุณค่าให้กับสังคมได้อย่างไร เป็น Moment ที่สำคัญมาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้กลไกของการเรียนการสอนในภาคอุดมศึกษามาสร้างคนที่มีคุณค่า สร้างคนที่ทำประโยชน์ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นอนาคต เป็นคนที่จะนำพาประเทศไปสู่จุดยั่งยืน สู่ความเป็นอารยประเทศ ทำให้ประเทศมีรายได้มั่งคั่งต่อไปในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ ประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์ด้าน Semiconductor กล่าวว่า “หากประเทศไทยสามารถสร้างกลไกการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้ จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้าน Semiconductor ให้มีความพร้อมเข้าสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น”
สำหรับกิจกรรมภายในงาน Campus Tour ประกอบด้วย การให้ข้อมูลโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+), การแนะนำบริษัทที่เข้าร่วมโครงการและเส้นทางอาชีพแก่นิสิต/นักศึกษา, กิจกรรม Job fair, การเสวนาในหัวข้อ “5 Keys ปลดล็อกประเทศไปสู่อุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronics : กุญแจดอกที่ 5 การสร้างความเข้มแข็งในด้าน IC Design ของประเทศ” โดยมี รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ ประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์ด้าน Semiconductor เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ทั้งนี้ การจัดโครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน Semiconductor and Advanced Electronics จัดขึ้นทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
พร้อมด้วยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาจำนวนกว่า 16 แห่ง ร่วมกับเครือข่ายบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทยในอุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronics จำนวน 7 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronics ทั้งในระยะสั้น (เร่งด่วน) ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อมุ่งยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าว