อว.เดินหน้าสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงด้านเซมิคอนดักเตอร์ร่วมกับ 7 บริษัทเอกชนชั้นนำจัด Campus Tour ดึงนักศึกษาฝึกงานผ่านโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) พร้อมดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ชู “เซมิคอนดักเตอร์” เครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) ของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 30 ม.ค.นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Campus Tour ภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “Semiconductor and Advanced Electronics” ระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ณ ห้องประชุมดงยาง 1 อาคารสตางค์มงคลสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีคณะผู้บริหาร อว. คณะผู้บริหาร มอ. คณาจารย์ นักศึกษา และจ้าหน้าที่เข้าร่วม
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า โครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน Semiconductor and Advanced Electronics เป็นความร่วมมือระหว่าง สป.อว. สอวช. และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในความดูแลของกระทรวง อว. ร่วมกับเครือข่าย บริษัทเอกชนระดับชั้นนำของประเทศไทยในอุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronics จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (อยุธยา) จำกัด บริษัทอินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันกำหนดแผนและขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง โดยปัจจุบันอุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronic มีการเติบโตอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพื่อต้องการให้เป็น New Growth Engine ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนประเทศไทยต้องสร้างความสามารถด้านการแข่งขันด้วยการดึงดูดบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เข้ามาตั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและดูดซับเทคโนโลยีขั้นสูงและนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาเป็นของตนเอง และการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานประกอบการในประเทศ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นเป็นการขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในด้าน Semiconductor and Advanced Electronics ระยะเร่งด่วน โดยเปิดรับสมัครนิสิต/นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าฝึกงานผ่านโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) ที่ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากหน่วยผลิตกำลังคน หรือสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับภาคผู้ใช้บัณฑิตหรือสถานประกอบการและในระยะต่อไปจะมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือ Higher Education Sandbox เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในระยะกลางและระยะยาว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น
ด้าน รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ ประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ด้าน Semiconductor ชี้แจงเกี่ยวกับโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) และแนวทางการสมัครเข้าร่วมโปรแกรมโดยจุดเด่นของโปรแกรมนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมจะมีโอกาสได้ฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำด้าน Semiconductor and Advanced Electronics ซึ่งนักศึกษาจะได้รับการการเติมทักษะที่สำคัญในการทำงานผ่านคอร์สออนไลน์และกิจกรรม Bootcamp ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รวมทั้งได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ในระดับแนวหน้าของประเทศ ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามารถสร้างกลไกการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้ จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้าน Semiconductor ให้มีความพร้อมเข้าสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมด้าน Semiconductor ต่อไป