xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภมาส” มอบนโยบายจัดทำหลักสูตรเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน โดยใช้แผนที่ทักษะ และทรานสคริปต์โชว์ผลทักษะ ให้ 109 มหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภมาส” มอบนโยบายจัดทำหลักสูตรเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน โดยใช้แผนที่ทักษะ (Skill Mapping) และทรานสคริปต์โชว์ผลทักษะ (Skill Transcript) ให้ 109 มหาวิทยาลัย พร้อมดึงเอกชนร่วมปั้นหลักสูตรตอบโจทย์ตรงความต้องการ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายในโครงการประชุมสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำหลักสูตรในการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยใช้แผนที่ทักษะ (Skill Mapping) และทรานสคริปต์แสดงผลทักษะ (Skill Transcript) พร้อมด้วย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสร้างและพัฒนาบัณฑิต ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ถ.ศรีอยุธยา โดยมีผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 109 แห่ง หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมในห้องประชุม จำนวน 188 คน และเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 408 คน 

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การทำ Skill Mapping หรือแผนที่ทักษะเพื่อระบุทักษะที่สำคัญในการทำงานในสาขาอาชีพสมัยใหม่ และเป็นไปตามความต้องการของประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความต้องการทักษะของภาคธุรกิจ และจากฐานข้อมูลการทำงานระดับโลก เพื่อทำการวิเคราะห์หาทักษะที่นักศึกษาควรมี ปัจจุบันได้มีการประกาศทักษะที่พึงประสงค์จำนวน 5 สาขา ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ การตลาดดิจิทัล การท่องเที่ยวสมัยใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่จะพัฒนากำลังคน สามารถนำไปปรับใช้ในการออกแบบหลักสูตรได้

รมว.อว.กล่าวต่อว่า การสัมมนาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษานำร่อง 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน การนำ Skill Mapping ใช้ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ใช้บัณฑิต และนำไปสู่การขยายผลให้กับสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ในการจัดทำทรานสคริปต์แสดงผลทักษะ (Skill Transcript) และใบประกาศนียบัตรแสดงผลทักษะ (Skill Certificate) ต่อไป

“Skill Mapping ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนและผลักดันให้การสร้างหลักสูตรบนฐานสมรรถนะและทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ และปรับให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะบุคคล เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้เรียนมีทักษะที่พึงประสงค์ มีความพร้อมในการทำงาน และเป็นที่ต้องการของภาคผู้ใช้บัณฑิต และอาชีพในอนาคต” นางสาวศุภมาส กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว มีการจัดเสวนา 4 หัวข้อ ได้แก่ 1.แนวทางการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามปรัชญาการอุดมศึกษาไทย 2.การนำ Skill Mapping ไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน 3.การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้ Skill Mapping ของสถาบันอุดมศึกษา 6 แห่ง และ 4.การสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม












กำลังโหลดความคิดเห็น