xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วยภัยแล้งซ้ำซาก เมืองกาญจน์ กว่า 12,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - เปิดงบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วยภัยแล้งซ้ำซาก 5 อำเภอ จ.กาญจน์ ทั้ง 4 ระยะ กว่า 12,000 ล้านบาท ยันไม่กระทบสัตว์ป่า เหตุตลอดแนวกว่า 20 กม.ไม่เปิดผิวดิน อุโมงค์ลึกใต้ผิวดินเฉลี่ย 500 เมตร ลงไป
 
วันนี้ (15 ก.พ.) ดร.ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ ตัวแทนทีมที่ปรึกษาโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย อ.หนองปรือ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี กล่าวว่ากรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 5 อำเภอข้างต้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่เงาฝนหรือ rain shadow จึงมีปริมาณฝนตกน้อยมาก ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2564
 
สำหรับโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มี 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้ภูเขาที่ระดับเฉลี่ย 500 เมตรจากผิวดิน ไปลงอ่างเก็บน้ำลำอีซู  ขนาดอุโมงค์ 4.20 เมตร ความยาว 20.500 กิโลเมตร อัตราผันน้ำวันละ 1.036 ล้าน ลบ.ม. มีอาคารประกอบ ได้แก่ อาคารรับน้ำ และอาคารจ่ายน้ำ ค่าก่อสร้าง 4,287.75 ล้านบาท
 
ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู  ถึงบ่อพักน้ำหลุมรัง ท่อส่งน้ำเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 เมตร ความยาว 14.195 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 3,121.03 ล้านบาท
 
ระยะที่ 3 โครงการก่อสร้างบ่อพักน้ำหลุมรังขนาด 651 ไร่ ความลึกน้ำ 4.00 เมตร ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้าน ลบ.ม. ค่าก่อสร้าง 113.19 ล้านบาท
 
และระยะที่ 4 โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปพื้นที่รับประโยชน์ ประกอบด้วยคลองสายหลักเป็นคลองดาดคอนกรีตยาว 94.165 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 42 สาย ระยะทางรวมกัน 314 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 3,992.74 ล้านบาท
 
โดยโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำลำอีซู  ขนาดอุโมงค์ 4.20 เมตร ความยาว 20.500 กิโลเมตร ระยะที่ 1 ที่มีบางหน่วยงานเป็นห่วงและติดตามโครงการมาโดยตลอดเนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้น ประเด็นนี้จึงขอชี้แจงว่าตลอดแนวการก่อสร้างอุโมงค์ ความยาว 20.500 กม.เนื้อที่ 64 ไร่ เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยการใช้วิธี TBM (Tunnel Boring Machine)
 
เนื่องด้วยพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ การก่อสร้างจึงพยายามลดผลกระทบด้านเสียงและการสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างให้มากที่สุด จึงออกแบบให้เจาะอุโมงค์ 2 ด้าน พร้อมกันคือ จากด้านปากอุโมงค์ ความยาว 10.265 กิโลเมตร และจากด้านปลายอุโมงค์ ความยาว 10.265  กิโลเมตร โดยไม่มีการเจาะทางเข้าออกระหว่างทางตลอดแนวอุโมงค์ หรือไม่มีการเปิดหน้าดินตลอดแนวอุโมงค์ และความลึกอุโมงค์เฉลี่ยอยู่ที่ 500 เมตร จากผิวดินลงไป
 
โดยในช่วงแรกของการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้วิธีการขุดเจาะอุโมงค์แบบใช้ระเบิด (Drilling and Blasting (D&B) บริเวณปากอุโมงค์เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างก่อนดำเนินการก่อสร้างด้วยวิธีเครื่องขุดเจาะ TBM ซึ่งการระเบิดจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ย 4-6 เมตร/วัน ระยะทาง 50 เมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนอุโมงค์หลักจะก่อสร้างโดยใช้หัวเจาะ TBM ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.20 เมตร ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ยประมาณ 12-20 เมตรต่อวัน ระยะทางด้านละ 10.265 กม. คาดว่าใช้เวลาประมาณ 4 ปี
 
ดร.ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณการก่อสร้างโครงการทั้ง 4 ระยะ ประกอบด้วย 1.อาคารรับน้ำและส่วนประกอบ จำนวน 282.13 ล้านบาท 2.อุโมงค์ผันน้ำ จำนวน 3,831.02 ล้านบาท 3.อาคารจ่ายน้ำและส่วนประกอบ จำนวน 174.60 ล้านบาท
 
4.ระบบส่งน้ำ จำนวน 7,226.96 ล้านบาท แยกเป็นท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซูไปบ่อพักน้ำหลุมรัง จำนวน 3,121.03 ล้านบาท บ่อพักน้ำหลุมรัง จำนวน 113.19 ล้านบาท คลองส่งน้ำชลประทานสายใหญ่ MC จำนวน 2,282.32 ล้านบาท และท่อส่งน้ำชลประทานสายซอยและสายแยกซอย จำนวน 1,710.42 ล้านบาท
 
5.ค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน จำนวน 246.42 ล้านบาท 6.ค่าใช้จ่ายตามแผน EIMP จำนวน 205.53 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 41.30 ล้านบาท รวมทั้งหมด จำนวน 12,007.96 ล้านบาท






กำลังโหลดความคิดเห็น