xs
xsm
sm
md
lg

หนุนโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีฯ ช่วยประชาชน-เกษตรกร 5 อำเภอ จ.กาญจน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ปธ.กมธ.แก้ปัญหาภัยแล้ง หนุนโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีฯ ช่วยประชาช.ฃน-เกษตรกร 5 อำเภอ จ.กาญจน์ แนะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เปิดเผยว่า จากกรณีกรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย อ.หนองปรือ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี

เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่เงาฝนหรือ rain shadow จึงมีปริมาณฝนตกน้อยมาก ทำให้ไม่มีน้ำไปเติมแหล่งเก็บกักน้ำที่ได้พัฒนาไว้ และบางพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ การศึกษาความเหมาะสมโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่จะผันน้ำปีละ 378 ล้านลูกบาศก์เมตร เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2564

สำหรับโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มี 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณตำบลวังด้ง ไปอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) ขนาดอุโมงค์ 4.20 เมตร ความยาว 20.500 กิโลเมตร อัตราผันน้ำวันละ 1.036 ล้าน ลบ.ม. พร้อมวางคลองส่งน้ำไปพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งตะวันตกของลำตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย

ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) ถึงบ่อพักน้ำหลุมรัง ท่อส่งน้ำเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 เมตร ความยาว 14.195 กิโลเมตร ระยะที่ 3.โครงการก่อสร้างบ่อพักน้ำหลุมรังขนาด 651 ไร่ ความลึกน้ำ 4.00 เมตร ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้าน ลบ.ม. และระยะที่ 4.โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปพื้นที่รับประโยชน์ ประกอบด้วย คลองสายหลักเป็นคลองดาดคอนกรีตยาว 94.165 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 42 สาย ระยะทางรวมกัน 314 กิโลเมตร

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุนให้กรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งดำเนินการโครงการดังกล่าวให้สำเร็จโดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเมื่อมีโครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย มักจะมีผู้ออกมาต่อต้านและไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย แต่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้เข้าใจทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไข ว่าโครงการใหญ่ๆ ที่จะสร้างนี้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้

อย่างเช่นโครงการที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อประมาณกว่า 30 ปีที่ผ่านมา คือ โครงการวางท่อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ประเทศพม่า ผ่านชายแดนบ้านอีต่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ ไปโรงไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. โดยในขณะนั้นมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านอย่างหนัก แต่สุดท้ายสามารถก่อสร้างได้โดยการสร้างความเข้าใจ ซึ่งมาถึงทุกวันนี้โครงการวางท่อก๊าซดังกล่าวกลายเป็นแหล่งต้นทุนพลังงานและไฟฟ้า และเป็นโครงการที่คุ้มค่าเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นจำนวนมหาศาล

โดยโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาตินี้ก็เช่นกัน จึงอยากให้ทุกหน่วยงานช่วยสร้างความเข้าใจว่ามันจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหา เพิ่มน้ำต้นทุนในพื้นที่อีสานภาคกลางได้อย่างยั่งยืน และโครงการนี้ผมเห็นด้วยที่จะให้มีการดำเนินการ เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือประชาชน และประเทศชาติ










กำลังโหลดความคิดเห็น