xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เปิดแนวทางคุมค่าไฟเร่งด่วนปี 67 ไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เตรียมยื่นข้อเสนอภาครัฐดูแลค่าไฟฟ้าระยะเร่งด่วนปี 67 วางเป้าหมายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย โดยวางแนวทางหลักบริหาร 5 แนวทาง และระยะกลางและระยะยาวเป้าหมายค่าไฟเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาท/หน่วย เน้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เปิดตลาดไฟเสรี

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาครัฐมีนโยบายดูแลราคาพลังงานนับเป็นสิ่งที่ดีเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนให้กับธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) แต่ทางออกของอัตราค่าไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขที่ต้นเหตุที่มีเป้าหมายในระยะสั้น กลางและยาว โดย ส.อ.ท.ได้จัดทำแนวทางเพื่อเป็นข้อเสนอให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ 2 แนวทางหลักได้แก่ 1. เร่งแก้ไขระยะเร่งด่วนเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2567 ไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย และ 2. การแก้ไขปัญหาระยะกลางและยาว เพื่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาท/หน่วย

สำหรับแนวทางระยะเร่งด่วนนั้นประกอบด้วย 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. การขับเคลื่อนเชิงรุก ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องวางแนวทางบริหารเชิงรุกโดยยึดประโยชน์ ค่าครองชีพของภาคประชาชน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฯลฯ ขณะที่ กกพ. การพิจารณาค่า Ft ขาดการปรับปรุงข้อมูลค่าพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเปิดรับฟังความเห็นเนื้อหาเข้าใจยาก ขาดการมีส่วนร่วม จึงต้องพิจารณาให้เกิดความถูกต้อง เปิดเผยและตรวจสอบได้ เป็นต้น


2. บทบาทรัฐวิสาหกิจ ควรสร้างความเข้มแข็งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในทุกมิติ ช่วยดูแลด้านสภาพคล่อง เช่น ชะลอส่งเงินเข้ากระทรวงการคลัง ฯลฯ ให้ กฟผ.ดูแลหน่วยงาน System Operator (S.O.) เช่นเดิม การสรรหาผู้ว่าณ กฟผ.ควรปราศจากการแทรกแซง ดูการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ควรปราศจากการแทรกแซง

3. ควรแก้ไขด้านปริมาณ (Supply) ไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการ (Demand) ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ควรลดมาร์จิ้นและยืดเวลา โดยสัญญาใหม่ควรลดผลตอบแทนลง (Low risk, Low return) ไม่เร่งปริมาณไฟฟ้า โดยทบทวนแผนพลังงานแห่งชาติ เพิ่มการใช้ไฟโดยสนับสนุนรถขนาดใหญ่ทั้งรถบัสและรถบรรทุกใช้ไฟฟ้า โดยจัดทำมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้

4. ส่งเสริม และปลดล็อกพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม โดยควรสนับสนุนทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยครัวเรือนควรผลักดันมาตรการทางการเงินและคลังสนับสนุน ภาคธุรกิจควรยกเว้นขอใบอนุญาต รง.4 โดยพิจารณาเฉพาะความปลอดภัยและโครงสร้างอาคาร และทั้ง 2 ส่วนควรสนับสนุนการทำ Net Billing ในราคาที่สมเหตุผล

5. ปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ (NG) เพื่อลดมาร์จิ้นของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP / ลดค่าผ่านท่อก๊าซฯ ให้เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาทั้ง NG และ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ทบทวนค่าผ่านท่อโดยเฉพาะท่อที่คุ้มทุนแล้ว กำหนดราคาขายก๊าซผู้ผลิตไฟฟ้าทุกประเภท (IPP SPP IPS) ให้เป็นราคาเดียวกันกับ IPP นำเข้า LNG จากประเทศที่มีราคาถูกและเพิ่มการนำเข้า NG จากพม่าให้มากที่สุด เป็นต้น


สำหรับแนวทางแก้ไขระยะกลางและยาวเพื่อค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3 บาท/หน่วย ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา (OCA) โดยยึดหลักความมั่นคงทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงเรื่องเขตแดน 2. เร่งเปิดระบบตลาดเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติและลดผูกขาดใดๆ สำหรับการเปิดตลาดเสรีรัฐ ต้องมีระบบ Smart Grid & Smart Meter โดยเปิดให้มีการขายไฟฟ้าแบบระหว่างบุคคล (P2P) และ Net Metering เปิดให้มีการใช้โครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ให้บุคคลที่สาม (TPA) ในอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสมและเป็นธรรม และTPAท่อส่งปัจจุบันเหมาะกับผู้ใช้รายใหญ่ทำให้ผู้ใช้รายย่อยขาดโอกาส ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น