เชียงใหม่ - อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ Korea Advanced Institute of Science & Technology (KAIST) จัดประชุมวิชาการ “ISHIF 2024” ระดมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติร่วมพัฒนาเครือข่าย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการทำวิจัยในสาขานวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ Korea Advanced Institute of Science & Technology (KAIST) สถาบันชั้นนำระดับ Top 50 ของโลก จัดโครงการขับเคลื่อนความร่วมมือโดยมุ่งเน้นสาขาการแพทย์ สุขภาพ และเทคโนโลยีพลาสมา ระหว่างไทยกับต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี และไต้หวัน ในกิจกรรม “The 2nd International Symposium on Sustainable Healthcare Innovation for Future Society 2024” (ISHIF 2024) ภายใต้โครงการการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่าง Korea Advanced Institute Science and Technology (KAIST) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการทำวิจัยในสาขานวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. ในฐานะคณะดำเนินงานหลัก กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้บริหารสถาบัน KAIST นำโดย Prof.Wonho Choe ผู้ร่วมก่อตั้งงานประชุมวิชาการ และ Prof. Man Sang Yim รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ให้เกียรติกล่าวแนะนำสถาบัน KAIST ณ NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ที่ผ่านมานั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติ เช่น สถาบันชั้นนำจากสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science & Technology (KAIST), Sungkyunkwan University, Seoul National University และ Yonsei University (Mirae Campus), Ming Chi University of Technology, Taiwan, University of Kiel, Germany, University of West Bohemia, Czech Republic และ Universiti Malaysia Perlis, Malaysia เป็นต้น เพื่อการบูรณาการศาสตร์ความรู้ที่หลากหลาย และยกระดับการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ชีวภาพและเทคโนโลยีพลาสมาของไทยสู่การสร้างนวัตกรรมระดับโลกจากความร่วมมือระหว่างสถาบันดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่การจัดงานประชุมวิชาการ ISHIF 2024 ในครั้งนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสัญชาติเข้าร่วมเสวนาและบรรยายพิเศษกว่า 30 คน นำโดย Prof. Chan Beum Park, Prof. Dr. Choongsik Bae, Prof. Nipon Theera-Umpon, Prof. Dr. Holger Kersten จากมหาวิทยาลัยคีล เยอรมนี, Prof. Dr. Pavel Baroch จากมหาวิทยาลัยเวสต์โบฮีเมีย สาธารณรัฐเช็ก, Dr. Seungmin Ryu พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ รองอธิการบดี มช. ผู้เชี่ยวชาญจากไทย ร่วมบรรยายในหัวข้อ “การจุดประกายด้านนวัตกรรม: เส้นทางจากงานวิจัยสู่ตลาดเทคโนโลยีพลาสมาของไทยกับศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลาสมา (Sparking Innovation: The Journey from Research to Market in Thai Plasma Technology with the Plasma Thailand Consortium)” รวมถึงนักวิจัยท่านอื่นๆ จาก KAIST และสถาบันพลังงานฟิวชันของเกาหลี (Korea Institute of Fusion Energy: KFE) ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดโครงการวิจัยและยกระดับความเข้มแข็งของเครือข่ายระหว่างประเทศด้านการแพทย์ สุขภาพและเทคโนโลยีพลาสมาให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มโอกาสการขยายความร่วมมือกันในอนาคต
ทั้งนี้ อธิการบดี มช.กล่าวว่า เทคโนโลยีนวัตกรรมในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญและสร้างประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้มีความสะดวกสบายขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนช่วยทำให้สามารถรับมือกับโรคต่างๆ ได้มากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการนำเทคโนโลยีพลาสมามาประยุกต์ใช้งานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการจัดงานประชุมวิชาการ ISHIF 2024 ในครั้งนี้ได้รวบรวมสุดยอดนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก อีกทั้งสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำทั้งใน และต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสในการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อร่วมกันค้นหานวัตกรรมใหม่และการประยุกต์ใช้ในด้านชีวภาพ การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีพลาสมา ซึ่งนำไปสู่การผลักดันความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการแพทย์สู่การสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสังคมในอนาคตต่อไป และด้วยความร่วมมือนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะส่วนงาน มช. และผู้ดำเนินการโครงการ เชื่อมั่นว่าการจัดการประชุมวิชาการที่รวบรวมนักวิจัยระดับนานานาชาติครั้งนี้จะเกิดความร่วมมือการต่อยอดงานวิจัยในสาขานวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาจำนวนมากขึ้น
อีกทั้งจะเกิดเป็นศูนย์รวมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ “Hub of Talents” สำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างยั่งยืนในสังคมอนาคต โดย STeP มีการนำกลไกการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation) ที่ผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา มาผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมออกสู่ภาคอุตสาหกรรมและระดับโลก การเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศผ่านโครงการดังกล่าวในครั้งนี้มีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้านการแพทย์ ชีวภาพ และเทคโนโลยีพลาสมา ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม