ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่ชาติ (เนคเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม"Workshop eHPC : e-Science and High Performance Computing(eHPC2024) ในการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APAN ครั้งที่ 57 โดยเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนนักวิจัย HPC และนักวิจัยเชิงคำนวณ ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี HPC ในโอกาสนี้ดร. ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมนำคณะที่สนใจเยี่ยมชม ThaiSC LANTA Supercomputing ในช่วงบ่าย
eHPCเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และผลการวิจัย โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายภาคส่วน นำเสนอผลงานที่สนับสนุนการใช้งาน HPC อาทิ ด้านการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจาก UniNet, ด้าน Cybersecurity สำหรับระบบ HPC, และการนำระบบ HPC และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ไปใช้งานใน application ต่างๆ
Asia-Pacific Advanced Network (APAN)เป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีสมาชิก 38 หน่วยงาน จาก 19 ประเทศทั่วโลก เป็นเครือข่ายความร่วมมือในการใช้ระบบสื่อสารเครือข่ายเพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาและวิจัยของแต่ละประเทศ
อีกทั้งยังเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาแห่งชาติ ( NRENs) ทั่วภูมิภาค ครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และประเทศสมาชิกสามารถติดต่อสื่อสารให้บริการการเชื่อมต่อเครือข่ายความเร็วสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยรุ่นเยาว์ใน APAN และชุมชนที่เกี่ยวข้องนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีเครือข่าย (Network technology) วิศวกรรมเครือข่าย (Network engineering) การวัดเครือข่าย (Network measurement) เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน (Application technology) เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication technology) สถาปัตยกรรมเครือข่าย (Network architecture) ความเป็นสากลและการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น เป็นต้น
การประชุม APAN จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ขณะที่การประชุมครั้งที่ 57 (57th APAN Meeting) ทางคณะกรรมการ APAN เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการระหว่างประเทศของกลุ่มสมาชิกเครือข่าย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม โดยในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Empowering Global Network Alliance for Climate Resilience” ระหว่างวันที่ 29 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯ จำนวน 350 คน ประกอบด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศ 100 คน ผู้เข้าร่วมประชุมจากมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน 150 คน และผู้ข้าร่วมประชุมที่เป็นสมาชิก APAN 100 คน ตลอดระยะเวลา 5 วันของการประชุมดังกล่าว จะเป็นเวทีในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัยไทย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ กับนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศในอนาคต อีกทั้ง จะช่วยให้นักวิจัยได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะ เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาและวิจัยของหน่วยงาน เนื่องจากกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมไม่เพียงแต่แบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอันมีค่าของตนเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายร่วมกันและสำรวจโซลูชันเชิงสร้างสรรค์ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาอีกด้วย