บุรีรัมย์ - ทัพปอดเหล็กไทย-เทศกว่า 3 หมื่นคนร่วมจารึกประวัติศาตร์ “บุรีรัมย์ มาราธอน 2024" สุดยอดไนต์รันระดับโกลด์ เลเบิล ไม่พลิกโผ “สัญชัย นามเขต” ปอดเหล็กทีมชาติ ควง “ลินดา จันทะชิด” คว้าแชมป์คนไทย สมัยที่ 5 ครองถ้วยพระราชทาน ขณะนักวิ่งอีลิตจากเคนยากวาดแชมป์ทั้งมาราธอนชาย-หญิง และฮาล์ฟมาราธอนชาย โดย มาราธอนชาย แชมป์เป็นของ “แมทธิว ซัมเปรู” ทำเวลา 2.09.54 ชม. ฝ่ายหญิง “ชารอน เชลิโม อารูโช” ทำเวลาได้ 2.27.59 ชม. ทุบสถิติเดิมของบุรีรัมย์มาราธอนในรุ่นอายุ 30-39 ปี
วันนี้ (28 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันวิ่ง “บุรีรัมย์ มาราธอน 2024 พรีเซนเต็ด บาย น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง” ครั้งที่ 8 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา งานวิ่งระดับมาตรฐานโลกระดับโกลด์ เลเบิล ระยะมาราธอน อย่างเป็นทางการปีแรก รายแรก รายเดียวของไทย และโกลด์ มาราธอนแรกของโลกในรูปแบบไนต์รัน ออกสตาร์ทที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และเข้าเส้นชัยที่สนามช้าง อารีนา อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เมื่อคืนวันที่ 27 ม.ค. 67
โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ร่วมด้วย นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน, ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, พล.ต.ต สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการ สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายโชติชนก ชิดชอบ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการแข่งขัน (Race Director) บุรีรัมย์มาราธอน ร่วมงาน
สำหรับรายการนี้เป็นการแข่งขันในรูปแบบ Night Run (ไนต์รัน) ภายใต้แนวคิด “สวรรค์ของนักวิ่ง” ที่สุดของงานวิ่งมาตรฐานโลกฝีมือคนไทย รับรองโดย สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ World Athletics Road Race แข่งขัน 4 ระยะ ได้แก่ ระยะมาราธอน (42.195 กม.), ฮาล์ฟมาราธอน (21.1 กม.), มินิมาราธอน (10.0 กม.), ฟันรัน (4.554 กม.) โดยมีนักวิ่งทั้งไทยและต่างชาติร่วมลงแข่งขันทั้งหมด 46 ชาติ รวมกว่า 30,000 คน ซึ่งมี นักวิ่งอีลีทชั้นนำจากทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในเวิลด์ แรงกิ้ง 49 คน จากประเทศเคนยา, เอธิโอเปีย, ยูกันดา, รัสเซีย, บรูไน ฯลฯ
สำหรับผลการแข่งขันมาราธอนชาย ผู้ที่เข้าเส้นชัยคนแรก นักวิ่งอีลิต แมทธิว ซัมเปรู จากเคนยา ทำเวลา 2.09.54 ชม. ที่ 2 จอห์น เอ็มวานกันกี (เคนยา) 2.11.07 ชม. ที่ 3 จีออฟเฟรย์ กีโปรติช บิร์เกน (เคนยา) 2.11.22 ชม.
ด้านแชมป์คนไทย ฝ่ายชายตกเป็นของ สัญชัย นามเขต เจ้าของเหรียญเงินซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ คว้าแชมป์ 5 สมัย ได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทำเวลาได้ 2.34.43 ชม.
“สัญชัย นามเขต” เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับถ้วยพระราชทาน 5 สมัยติดต่อกัน ตั้งใจไว้ว่าจะทำให้ได้ ในที่สุดก็ทำได้ตามเป้าหมาย เป็นเรื่องน่ายินดีมากๆ สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ถึงแม้สถิติอาจจะไม่ดีเหมือนปีที่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้วิ่งมาราธอน 2-3 สนามติดต่อกัน ก่อนจะมาแข่งรายการนี้ ซึ่งเส้นทางวิ่งมาราธอนสนามนี้ดีมากๆ อากาศดีมาก ส่วนหลังจากนี้จะพักการแข่งขันเพื่อจะเตรียมตัวแข่งคัดซีเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีหน้า ตั้งใจว่าจะคว้าเหรียญทองซีเกมส์ให้ได้
มาราธอนหญิง ที่ 1 ชารอน เชลิโม อารูโช (เคนยา) 2.27.59 ชม.ทำลายสถิติเดิมของบุรีรัมย์มาราธอนในรุ่นอายุ 30-39 ปี หญิง ที่บันทึกไว้ 2.28.05 ชม. ส่วนที่ 2 คาโรไลน์ เจฟชิร์ชิร์ (เคนยา) 2.30.11 ชม. ที่ 3 เชอิลา เจฟกอสเกย์ เชแซง (เคนยา) 2.32.11 ชม. ส่วนแชมป์คนไทย ฝ่ายหญิง “ปลาน้อย” ลินดา จันทะชิด ทีมชาติ ทำเวลาได้ 2.59.26 ชม. คว้าแชมป์ เป็นสมัยที่ 5 โดยเป็นแชมป์ 3 ปีติดต่อกัน ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
ฮาล์ฟมาราธอน ชาย ที่ 1 แอนเดอร์สัน เซรอย (เคนยา) 1.04.07 ชม. ที่ 2 มูเฮีย เอ็นไจ (เคนยา) 1.05.11 ชม. ที่ 3 บิลลิเลียน ยีเมอร์ (เอธิโอเปีย) 1.07.35 ชม.ด้านแชมป์คนไทย ฝ่ายชาย “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม เป็นคนไทยที่เข้าเส้นชัยของฮาล์ฟมาราธอนเป็นคนแรกด้วยเวลา 1.08.30 ชม.เป็นแชมป์คนไทยสมัยที่ 5
“บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม เปิดเผยว่า ปีนี้การแข่งขันทำสถิติสู้ปีที่แล้วไม่ได้มาจากสภาพอากาศ รู้สึกว่าวิ่งแล้วร้อนกว่าปีที่แล้ว คู่แข่งก็วิ่งดี ตอนแรกวิ่งเกาะกลุ่มกับนักวิ่งต่างชาติ แต่ช่วงหลังๆ โดนทิ้งห่างยอมรับว่าร่างกายเราสู้ไม่ได้ ความแข็งแกร่งเป็นรอง หลังจากนี้จะก้าวไปสู่ระยะมาราธอน ในทุกรายการที่ลงแข่ง โดยปีหน้าจะลงแข่งบุรีรัมย์มาราธอน 2025 ในระยะมาราธอน เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการติดทีมชาติในซีเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพให้ได้ แต่สำหรับโอกาสติดทีมชาติ อาจจะมีพี่ๆ อย่าง สัญชัย นามเขต และ คิริน ตันติเวทย์ เป็นคู่แข่ง แต่ไม่ยอมแพ้ และจะทำให้เห็นว่าเราสามารถลงแข่งมาราธอนได้
ส่วนฮาล์ฟมาราธอน หญิง ที่ 1 ทเซกา เดสตา (เอธิโอเปีย) 1.16.04 ชม. ที่ 2 ลดแก้ว อินทะกุมมาน (ลาว) 1.19.22 ชม. ที่ 3 “ขม” อรอนงค์ วงศร ได้แชมป์คนไทยฮาล์ฟมาราธอน ฝ่ายหญิง 3 สมัย ด้วยเวลา 1.21.00 ชม.
มินิมาราธอน ชาย ที่ 1 ฟิกาดู เดเรซา (เอธิโอเปีย) 32.18 นาที ที่ 2 ธนัช วุฒิเทียร ทำเวลาได้ 32.58 นาที เป็นคนไทยที่เข้าเส้นชัยคนแรก ที่ 3 ซิมอน โรทิช (เคนยา) 33.15 นาที
ขณะมินิมาราธอน หญิง ที่ 1 อเลมทิสซาย อัดบารุ (เอธิโอเปีย) 34.52 นาที ที่ 2 “เก้า” ไอศิกา แก้วยงกฎ เหรียญเงินไตรกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา ทำเวลาได้ 39.14 นาที เป็นคนไทยฝ่ายหญิง ที่ทำเวลาได้ดีที่สุด ที่ 3 “น้องบิ๊กซี” ศรัญญา บัวไพร 40.02 นาที