เชียงใหม่-ผู้ว่าฯเชียงใหม่ นั่งประชุมศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า สั่งเร่งเดินหน้าดึงเชื้อเพลิงออกจากพื้นที่เกษตร ลดการเผา พร้อมกำชับทุกอำเภอหากมีอัคคีภัยหรือไฟไหม้กองวัสดุการเกษตรในพื้นที่ให้นายอำเภอคอยบัญชาการเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ย้ำชัด ต้องดับให้ได้ภายในวันเดียว ห้ามลุกลามข้ามคืน
รายงานข่าวแจ้งว่า นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) วานนี้(18ม.ค.67) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยในรอบวันที่ผ่านมาไม่พบจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้สถิติจุดความร้อนรวมในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ 1-17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 38 จุด ซึ่งลดลงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 110 จุด หรือลดลงร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ขณะเดียวกัน แอปพลิเคชันตรวจสอบคุณภาพอากาศตรวจพบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณฝุ่นละอองเพียง 9.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีคุณภาพอากาศที่ดีที่สุดในประเทศไทย
โดยที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดจุดความร้อนที่อยู่นอกเหนือการบริหารจัดการและทำให้สภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่คงความบริสุทธิ์ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการให้ทุกอำเภอบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เร่งสำรวจและเข้าไปดำเนินการดึงเชื้อเพลิงออกจากพื้นที่เกษตรให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการป้องกันและลดการเผา และให้เชื้อเพลิงตกค้างในช่วงที่เป็นช่วงพีคของการเกิดไฟป่าในเดือนมีนาคมเหลือน้อยที่สุด โดยขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้เร่งส่งเครื่องอัดฟางก้อนไปให้กับอำเภอที่มีพื้นที่เพาะปลูกและมีเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวนมาก อาทิ อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อนำไปแปรรูปเศษวัสดุไม่ว่าจะเป็นฟางหรือเปลือกข้าวโพด นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แทนการเผา โดยจังหวัดเชียงใหม่จะมีการตั้งรางวัลให้กับคณะทำงานที่มีผลการปฏิบัติงานยอดเยี่ยมในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ทั้งในระดับกลุ่มพื้นที่ป่า อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหมู่บ้าน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการทำงาน และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย
ขณะเดียวกัน หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอัคคีภัยหรือไฟไหม้กองวัสดุการเกษตรในพื้นที่แต่ละอำเภอ นายอำเภอจะต้องอยู่คอยบัญชาการเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยต้องควบคุมไฟให้ดับได้ภายในวันเดียว และจะต้องไม่ปล่อยให้ลุกลามข้ามคืน
สำหรับในส่วนของการบริหารเชื้อเพลิงตามระบบ Fire-D ได้ขอความร่วมมือทุกอำเภอและทุกพื้นที่ หากดำเนินการอนุมัติและบริหารจัดการเชื้อเพลิงไปแล้วให้แจ้งรายงานกลับมาในระบบ เพื่อไม่ให้ข้อมูลคงค้างในระบบ ขณะเดียวกันหากมีการขออนุมัติบริหารเชื้อเพลิงแล้ว แต่มีความจำเป็นต้องเลื่อนหรือไม่สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ ก็ขอให้อัปเดทของมูลในระบบให้เป็นปัจจุบันเช่นกัน หรือหากข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจริงกับข้อมูลที่ระบบดาวเทียมตรวจพบไม่ตรงกัน ก็ขอให้แจ้งให้ทางศูนย์ฯ รับทราบ ซึ่งจะมีคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อที่จะนำไปประสานกับทาง GISTDA ให้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป