xs
xsm
sm
md
lg

อยุธยา PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน สาธารณสุขแนะประชาชนดูแลตนเองและครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระนครศรีอยุธยา - สาธารณสุขกรุงเก่าแนะประชาชนดูแลตนเองและครอบครัว หลังพบ PM 2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (10 ม.ค.) นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า คุณภาพอากาศในระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 2567 มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ สามารถแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือดและแทรกซึมกระบวนการทำงานอวัยวะต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง 

 ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ หากบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ และหากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกัน และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะให้รีบพบแพทย์ทันที 

สำหรับแนวทางการดูแลเด็กเล็กสำหรับผู้ปกครอง 1.ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  ตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ 2.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน 3.เด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลอย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการ หากพบว่ามีความผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที 4.ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษ 5.งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM 2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ปิ้งย่างที่ทำให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ  

6.ไม่ติดเครื่องรถยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน 7.ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน 8.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งและการทำงานหนักที่ต้องออกแรงมากในบริเวณที่มีหมอกควัน สามารถติดตามข่าวสาร ประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการหรือสื่อต่างๆ รวมทั้งการรายงานสถานการณ์คุณภาพ อากาศได้ที่ เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ สามารถ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 




กำลังโหลดความคิดเห็น