xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขยายดูแล "โรคหืด-COPD" ถึงปฐมภูมิ รองรับรักษาทุกที่ใกล้บ้าน ชู รพ.ธัญบุรี ดึงคนไข้เป็นทีมรักษา ลดกำเริบเข้า รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ขยายดูแลโรคหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรังถึง "ปฐมภูมิ" รองรับรักษาทุกที่ ดูแลใกล้บ้าน เน้นทำคลินิกคุณภาพ ลดนอน รพ. ชู "รพ.ธัญบุรี" ส่ง อสม.ดูแลถึงชุมชน ดึงผู้ป่วยร่วมเป็นทีมรักษา เน้นรักษาสม่ำเสมอ พ่นยาเมื่อมีอาการ ช่วยลดกำเริบนานเป็นปี เผยปี 66 แอดมิทน้อยแค่ 3 ราย พร้อมแจ้งเตือนระวังฝุ่น PM 2.5 ผ่านกลุ่มไลน์

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาการบริหารนโยบายสุขภาพโดยเน้นคุณค่า สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณคลินิกคุณภาพ ให้แก่ คลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง EACC รพ.ธัญบุรี

นพ.สุรโชคกล่าวว่า สธ.ได้กำหนดให้โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดอยู่ใน Service Plan สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีการจัดตั้งคลินิกขึ้นโดยเฉพาะ ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยจนลดการเข้าห้องฉุกเฉินและลดการนอน รพ.ลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วง ม.ค. - ก.พ. ทำให้กระตุ้นจนผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบมากขึ้นได้ วันนี้จึงมีการพูดคุยถึงการดูแลตรงนี้ให้เชื่อมโยงไปถึงทุก รพ. เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ การลดคนไข้มาห้องฉุกเฉินหรือลดการนอน รพ. ซึ่งในส่วนของ สธ.นั้น เรามีการเฝ้าระวังว่าที่ไหนมีค่าฝุ่นปริมาณสูง ก็จะมีการแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยง โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องออกไปข้างนอก ถ้าจำเป็นต้องออกไปก็ต้องป้องกันใส่หน้ากาก เพื่อลดโอกาสเกิดอาการกำเริบ ที่สำคัญคือผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังจะต้องเฝ้าระวังดูแลรักษาตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดอาการกำเริบได้


นพ.สุรโชคกล่าวว่า การเดินหน้าคลินิกคุณภาพของคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น สิ่งสำคัญคือ ไม่ได้ดูแลรักษาด้วยการให้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้คนไข้มาห้องฉุกเฉินหรือนอน รพ.ลดน้อยลง โดยเฉพาะการทำให้ผู้ป่วยสามารถเฝ้าระวังดูแลรักษาตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะเฉียบพลันหรือลดอาการกำเริบได้ เพราะส่วนใหญ่ที่ต้องมาห้องฉุกเฉินหรือนอน รพ. เกิดการเมื่อเกิดอาการแล้วดูแลรักษาไม่เต็มที่ เช่น หอบเหนื่อยมากขึ้น หายใจดังเสียงวีด หายใจไม่ค่อยเข้า ก็จะต้องรีบมา รพ.ทันที ซึ่งหากมาช้าหรือไม่มา อาจทำให้อาการรุนแรงจนต้องนอน รพ.หรือเสียชีวิตได้ อย่างเครื่อง Peak Flow Meter ก็จะช่วยให้คนไข้รู้ตัวได้ ประเมินความรุนแรงของโรคได้ อย่างบางคนหอบหืดไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็น การวัดตรงนี้จะช่วยประเมินตนเอง รวมถึงแพทย์ที่ทำการรักษาก็ใช้วัดดูแลได้ มีการกระจายใน รพ.สังกัด สธ.แล้ว ซึ่งเราพยายามให้มีในทุก รพ.

"การดูแลโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เราต้องการให้ดูแลได้ไปถึงระดับปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดการดูแลใกล้บ้าน คนไข้จะได้ไม่ต้องมา รพ.ใหญ่ ไม่ต้องเดินทางไกล ซึ่งขณะนี้แพทย์ทั่วไปในปฐมภูมิก็สามารถคัดกรองดูแลและใช้ยาหอบหืดได้ อย่างตอนนี้ สธ.เดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ถ้าหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่สามารถดูแลโรคนี้ได้ เจ็บป่วยรักษาได้ครบถ้วนเหมือนกันทุกที่ คนไข้ก็จะใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล บัตรประชาชนใบเดียวก็จะไปได้ทุกที่ที่ใกล้ที่สุด" นพ.สุรโชคกล่าว


ด้าน นางศศิภาส์ อริสริยวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานวิจัยและพัฒนา หัวหน้าทีมคลินิกโรคหืดและโรคปิดอุดกั้นเรื้อรัง รพ.ธัญบุรี กล่าวว่า คลินิกฯ เดินหน้าภายใต้กรอบของ EACC ตั้งแต่ปี 2554 ดำเนินการจริงจังปี 2555 และต่อยอดมาเรื่อยๆ เราเป็น รพ.ชุมชน ช่วงแรกมีแค่ 60 เตียง ยังไม่มีแพทย์เฉพาะทางดูแล เราจะมีแค่แพทย์ทั่วไปจึงเน้นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ จนตอนหลังเรามีอายุรแพทย์ และพยายามสร้างทีมให้ใหญ่ขึ้น จุดเด่นคือ เรามอบตำแหน่งให้คนไข้เป็นทีมรักษาร่วมกับเรา เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง คนไข้จะต้องดูแลตนเองให้ได้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ก็จะให้ยาและการรักษาตามแนวทางสากล ส่วนคนไข้ต้องปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง คือ รับยาไปก็ต้องใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ เช่น การฝึกการหายใจ การบริหารปอด หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น คือสิ่งที่เขาต้องทำเองหมด จึงเป็นหนึ่งในทีมรักษาเรา ทีมเราจึงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

"เราพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้คนมีความรู้เข้าใจมากขึ้น อย่างอุปกรณ์บริหารปอดที่ใช้ง่ายและสนุก เราพัฒนาจากของเล่นเด็ก "ปี่ลิ้นมังกร" กระตุ้นเรื่องออกกำลังกายบริหารปอด หรือนวัตกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องปอด เรื่องบุหรี่ทำร้ายตนเองอย่างไร สูบบุหรี่เกิดอะไรบ้าง พอเกิดความรู้ความเข้าใจ จะสร้างความรอบรู้สุขภาพให้เขา เมื่อตระหนักและมีความรู้จะดูแลตัวเองอย่างยั่งยืน" นางศศิภาส์กล่าว


นางศศิภาส์กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งคือ อสม.ที่อยู่ในทีมของเราด้วย เพราะคนที่เข้าถึงได้ดีที่สุดคือ อสม. จะรู้ว่าบริบทแต่ละชุมชนเป็นอย่างไร โดยจะช่วยติดตามร่วมกับเรา ซึ่งจะดูตั้งแต่เคสที่ยังไม่เข้าระบบ เช่น เคสนี้สูบบุหรี่ เสี่ยงเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เคสนี้พ่อแม่เป้น ลูกมีภูมิแพ้บ่อยๆ ก็จะหาผู้ป่วยรายใหม่ให้เรา หรือคนไข้ในคลินิกขาดนัด เราจะส่งให้ อสม.ช่วยติดตาม หรือเคสนี้ปรับยาไปฝากดูหน่อยว่าพ่นยาถูกไหม ซึ่ง อสม.จะพ่นยาเป็น เราจะอบรมความรู้ปีละครั้งให้ อสม. ทั้งเรื่องประเมิน การใช้ยา การบริหารปอด อสม.เหมือนกับทีมใน รพ.เลย นอกจากนี้ ยังมีสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์แผนไทยที่ช่วยสุมยาดูแลผู้ป่วย มีนักโภชนากร และนักกายภาพบำบัดที่ร่วมดูแล โดยเราดูแลประเมินคนไข้รายคน เพราะแต่ละคนจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน

น.ส.ศศิภาส์กล่าวอีกว่า คนไข้ที่เข้ามาใหม่จะมีอาการกำเริบค่อนข้างเยอะ เราจะติดตามเร็วประมาณ 1-2 เดือน แต่ถ้าควบคุมอาการได้ดี ก็จะติดตามประมาณ 3 - 6 เดือนแล้วแต่อาการ แต่คนไข้ไม่ได้หายไป เพราะเรามีไลน์กลุ่มติดตาม ให้พูดคุยกับเราได้ตลอดว่ามีปัญหาอะไร หรือมีการปรับยาเราก็จะติดตามเขา หากคนไข้ดูแลตนเองได้ดี ก็ไม่เคยกำเริบเลยเป็นปี หรือบางคน 4-5 ปี แต่โรคนี้เป็นโรคประจำตัวสามารถกำเริบได้ อย่างฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้น เช้ามาเราจึงทำตัวเป็นกรมอุตุฯ เราดูว่าปริมาณฝุ่นเท่าไร แล้วแจ้งเตือนในกลุ่มไลน์ว่า วันนี้ค่าฝุ่นเท่านี้ ให้ดื่มน้ำเยอะๆ สวมหน้ากากอนามัย เราพยายามกระตุ้นเตือน ที่สำคัญคือเมื่อคนไข้มีอาการแต่สามารถดูแลตนเองได้ ไม่ต้องเข้ามานอน รพ. ซึ่งเมื่อก่อนจะพบบ่อยมาก หอบแล้วมาพ่นยา ตอนนี้แทบจะไม่มีที่มาพ่นยา โดยเรามีเทคนิควิดีโอให้เขา สอนจนเขาและเรามั่นใจว่านำยาเข้าปอดได้จริงๆ เพราะปัญหาอยู่ที่ปอด ต้องนำยาเข้าปอด การพ่นยาเข้าปากไม่ได้ออกฤทธิ์ การดึงยาเข้าปอดจึงสำคัญมาก

"ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการ เช่น ไอ แน่น หายใจไม่สะดวก เริ่มอึดอัด ก็จะรู้ว่าสามารถดูแลตนเองได้ พ่นยาบรรเทาอาการ อัตราแอดมิทตอนนี้ จึงน้อยมาก โดยทั้งปี 2566 มีแอดมิทแค่ 3 คน ซึ่งเป็นผลพวงที่ไม่สบายจากโควิด นอกจากนี้ เรายังต่อยอดมาดูแลในเด็กด้วย เพราะถ้าเด็กเป็นภูมิแพ้หอบหืด ไม่ได้รับการดูแลที่ดี ก็จะมีอาการรุนแรงหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคตได้ เราจึงดักดูแลตรงนี้ด้วย" น.ส.ศศิภาส์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น