ศูนย์ข่าวขอนแก่น-มหาวิทยาลัยขอนแก่น MOU เทศบาลเมืองศิลาสร้างโอกาสทางการศึกษาเด็กนักเรียนโรงเรียนเทศบาลโกทา โดยใช้โมเดลการจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของ “โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ครอบคลุมทั้งระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ชูเป็นโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมท้องถิ่นระดับประเทศ ฉลองครบรอบ 60 ปี ม.ขอนแก่น
มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะศึกษาศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา กับเทศบาลเมืองศิลา โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาของ “โรงเรียนเทศบาลโกทา” โดยจะใช้โมเดลการจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของ “โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ที่ครอบคลุมในระดับปฐมวัยและประถมศึกษารวมไปถึงการพัฒนาด้านนโยบายด้านการศึกษาในท้องถิ่น
โดยการลงนามดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมโรงเรียนเทศบาลโกทา เทศบาลเมืองศิลา จ.ขอนแก่น มี นายไพรัตน์ ทวีวาร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศิลา พร้อมด้วย รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และ รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวนศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองศิลา คณะผู้บริหารส่วนคณะฯ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในพิธี
นายไพรัตน์ ทวีวาระ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศิลา กล่าวว่า “เทศบาลเมืองศิลาได้รับถ่ายโอนสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาลโกทามาอยู่ในสังกัดและได้มีนโยบายในการพัฒนาด้านการศึกษารวมถึงได้หารือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาด้านการศึกษาเข้ามาร่วมพัฒนาโรงเรียนเทศบาลโกทาให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้บ้าน สำหรับลูกหลานในพื้นที่ตำบลศิลา ซึ่งจะช่วยลดความแอดอัดในการส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในเมือง
ทางเทศบาลเมืองศิลาต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างมากที่เป็นเสาหลักในการมาช่วยเหลือชุมชน ซึ่งเทศบาลเมืองศิลานั้นมีพื้นที่ติดกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การนำของคณะศึกษาศาสตร์และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นถือเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้การพัฒนาเมืองศิลานั้นสำเร็จผล และยังเป็นการพัฒนาในด้านที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือการเริ่มพัฒนาที่คุณภาพของคน”
ด้าน รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า60ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่นปณิธานที่อุทิศเพื่อสังคมถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของคณะศึกษาศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบคุณภาพการศึกษา ซึ่งการลงนามความมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะศึกษาศาสตร์และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นและเทศบาลเมืองศิลาในครั้งนี้ก็ถือเป็นภารกิจที่น่ายินดีและพร้อมที่จะนำเอาโมเดลการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ลงสู่โรงเรียนเทศบาลโกทา โดยมีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็น Innovative School มาเป็นต้นแบบเข้าปรับใช้ ยังรวมไปถึงการพัฒนากำลังครูที่มีอยู่เดิมพร้อมด้วยครูพี่เลี้ยงที่จะเข้าร่วมในกระบวนการจัดรูปแบบและระบบการสอนในห้องเรียนนำไปสู่การยกระดับโรงเรียนให้มีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับโรงเรียนชั้นนำซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมในการเรียนรู้แก่เด็กนักเรียนทุกคน
“เราหวังให้เป็นโรงเรียนต้นแบบสู่ระดับประเทศที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยในการพัฒนาโรงเรียนระดับปฐมวัยและประถมศึกษาในพื้นที่ต่อไป”
รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวนศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มีพันธกิจที่มุ้งเน้นในการเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการบริหารกิจการสาธารณะในท้องถิ่น ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาสถานศึกษาในท้องถิ่นและรวมไปถึงการสร้างความร่วมมือในด้านบริหารและการให้บริการสาธารณะ การพัฒนาและออกแบบนโยบายด้านการศึกษา การสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อส่งเสริมกิจการและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา นำไปสู้การพัฒนาโรงเรียนรอบข้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานเพื่อที่สร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม
ทั้งนี้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเอานวัตกรรมของคณะศึกษาศาสตร์ที่ใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงสาธิตในแก่คณะครูโรงเรียนเทศบาลโกทา นักเรียนและผู้ปกครองที่เข้าร่วมงาน ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มสาระวิชา ดังนี้
ฐาน CODING AND ROBOT CAMP นำเอานวัตกรรมบอร์ดเกมช่วยเรียนรู้ด้าน Coding ร่วมถึงสื่อช่วยสอน ซึ่งเสริมสร้างทักษะและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี
ฐาน ART AND DESIGN THINKING เป็นฐานที่มีแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างศิลปะและการคิดเชิงบวกที่นำเอาสิ่งของรอบตัวมาทำเป็นงานศิลปะที่มีโครงสร้างซึ่งจะช่วยเสริมทักษะทางด้านอารมณ์และแนวคิดสร้างสรรค์
ฐาน SPORT AND SMART กิจกรรมที่เน้นการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง กระโดด ร่วมไปถึงกิจกรรมสันทนาการ ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนากล้ามเนื้อการควบคุมร่างกายร่วมไปถึงเรียนรู้การทำงานร่วมกัน และช่วยในการฝึกสมาธิและการจอจ่อในการทำกิจกรรม
ฐาน SMART NEW GENERATION โมเดลการจัดการเรียนการสอนในเด็กแบบสมัยใหม่ที่นำเอาสื่อในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยสร้างในทักษะการพัฒนาทางการคิด การเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำงานร่วมกันและการสื่อสาร ทักษะการแก้ไขปัญหา ที่จะช่วยนักเรียนเตรียมตัวในสังคมและการทำงานในอนาคตที่ต้องพบเจอการเปลี่ยนแปลง