xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.กาญจน์แนะ กมธ.ตำรวจอยากรู้อะไรควรใช้อำนาจเชิญเจ้าหน้าที่มาสอบถามที่สภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ส.ส.กาญจน์ แนะ กมธ.ตำรวจอยากรู้อะไรควรใช้อำนาจเชิญเจ้าหน้าที่มาสอบถามที่สภา โดยเฉพาะกรณี คดีี "ทักษิณ" รักษาตัวอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจที่กำลังพูดถึงกันมากขณะนี้ถึงการเข้าไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลตำรวจ

จากกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า หากคณะกรรมาธิการการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร จะไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ ในเรื่องวิธีการ ขั้นตอนและมาตรการดูแลผู้ต้องขังเข้ากรณีเข้ารับรักษาตัว รวมถึงเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีอาการป่วยจริงอย่างไร ต้องระวังว่าจะถูกฟ้อง และกรณีที่ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความส่วนตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะดำเนินการฟ้องร้องคนที่ต้องการให้เปิดเผยข้อเท็จจริงถึงอาการป่วยของนายทักษิณ เข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ต่อมา นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ออกมาตอบโต้ว่า คณะกรรมาธิการการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่อย่างถูกต้องในการดำเนินการ จึงไม่กลัวว่าจะถูกฟ้อง

ล่าสุด วันนี้ (23 ม.ค.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันว่า การที่กรรมาธิการการตำรวจบางคนออกมามีความเห็นเกี่ยวกับการจะลงพื้นที่ไปโรงพยาบาลตำรวจเพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้ ตนมองแบบประชาชนคนหนึ่งว่า ทุกคนมีสิทธิดำเนินการตามที่ต้องการ แต่การกระทำของแต่ละท่านถ้าไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นๆ แบบนี้ก็ไม่เหมาะสม การไปโรงพยาบาลสิ่งแรกที่กระทบคือ การไปรบกวนการให้บริการผู้ป่วยรายอื่นที่รอรับการรักษา หรือการรบกวนบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเสียเวลาในการให้บริการประชาชนที่มารับการรักษาด้วย

ที่สำคัญที่สุดคือ การดำเนินการตรวจสอบในฐานะกรรมาธิการมีอำนาจในการประสานงานเรียกหน่วยงาน หรือเชิญบุคคล หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูลต่างๆ ที่สภาได้อยู่แล้ว อยากรู้อะไรอยากถามอะไรก็สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ การที่กรรมาธิการจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องใดสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ ในเบื้องต้นควรสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการตรวจสอบก่อน กรรมาธิการปกติมีเรื่องสงสัยอะไรพวกเราจะเชิญข้าราชการมาให้ข้อมูล ถ้าไปโรงพยาบาลจะไปรบกวนคนไข้รายอื่น รวมทั้งรบกวนเวลาหมอ พยาบาลที่ต้องรักษาคนไข้อีก

อย่างกรณีนักโทษป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เท่าที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า น่าจะมีบันทึกข้อตกลงกันระหว่างกรมราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจ และทราบว่ามีการปฏิบัติตามสิทธิของนักโทษที่เป็นผู้ป่วยสามารถรับการรักษาตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุเกือบ 80 ปีย่อมเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้ยิ่งมีเหตุผลอันควรที่ได้รับการพิจารณาตามความเหมาะสม

ซึ่งทุกคนมักอ้างสิทธิ กรรมาธิการก็อ้างสิทธิ นักโทษที่เป็นผู้ป่วยทุกคนเขามีสิทธิเช่นกัน คนป่วยไม่ว่าจะเป็นคนไทย ต่างชาติ หรือนักโทษต้องรับตัวไว้รักษาเป็นเรื่องปกติธรรมดา และโรงพยาบาลตำรวจมีข้อตกลงที่จะรับผู้ป่วยจากกรมราชทัณฑ์มานานแล้ว จากการตรวจสอบข้อมูลเก่าในอดีต เชื่อว่านักโทษที่นอนโรงพยาบาลยาวเป็นปีๆ ก็มีอยู่ ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการที่กรรมาธิการจะไปตรวจสอบที่โรงพยาบาล เพราะไม่เหมาะสมตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น