สกลนคร-“เฮ็ดดิ คราฟท์” แบรนด์สินค้าหัตถกรรมฝีมือคนพิการจากเต่างอย จ.สกลนคร พร้อมยกระดับสู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprise) เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่แตกต่าง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ร้าน Sweet Cottage Sakonnakhon ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำคณะสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม ล้อมวงจิบกาแฟ เล่าเรื่องความสำเร็จ “เส้นทางการพัฒนาทักษะ-ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุ สู่แบรนด์ “Heddi Craft” ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
จากนั้นคณะเดินทางไปที่ ‘Man Gardens’ Creative Crafts Center (สวนแมน) บ.หนองยาง ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร เพื่อเยี่ยมชมผลงานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากฝีมือคนพิการภายใต้แบรนด์ “Heddi Craft” ของกลุ่มเฮ็ดดิ บ้านเต่างอย ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุ มจธ.
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าที่มาของหลักสูตรนี้ มาจากคณะทำงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ.ที่ดำเนินโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนพิการเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่ปี 2557 โดยหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหนึ่งในสามหลักสูตรที่จัดขึ้นภายใต้โครงการฯ
ในรุ่นที่ 8 เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพคนพิการที่ต้องการทำงานอาชีพอิสระและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากข้อมูลการวิจัยพบว่า แม้ว่ามีคนพิการที่ได้รับการจ้างงานมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ แต่มีคนพิการส่วนหนึ่งมีความต้องการประกอบอาชีพอิสระ และมีข้อจำกัดต่อการทำงานในสถานประกอบการ เช่นการเดินทางไปทำงาน ไม่มีวุฒิการศึกษา หรืออายุมากเกินไป ฯลฯ รวมถึงสถานประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในเมือง คนพิการที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองไม่สามารถเดินทางหรือย้ายถิ่นฐานไปทำงานได้
จึงเป็นที่มาของหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นโดยฝีมือคนพิการขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านนางอย-โพนปลาโหล จ.สกลนคร เป็นศูนย์การเรียนรู้อยู่ในกำกับมจธ. ถือเป็นหลักสูตรนำร่องที่จัดอบรมขึ้นในต่างจังหวัด หลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อให้คนพิการช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งที่มีทักษะการทำงานหัตถกรรมอยู่แล้ว และผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ได้รวมกลุ่มกันฝึกฝนและทำงานที่บ้านได้ สามารถสร้างคุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างคุณค่าทางจิตใจและสังคมวัฒนธรรม ด้วยทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองได้
คนพิการที่เรียนหลักสูตรนี้ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การออกแบบชิ้นงาน การใช้สี การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การสื่อสารกับลูกค้า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การทำตลาด การทำบัญชี การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา การบริหารจัดการธุรกิจ ฯลฯ
นอกจากนี้กลุ่มคนพิการรุ่นที่ 3 ของหลักสูตร ยังได้โอกาสเรียนรู้การต่อยอดด้านความคิดสร้างสรรค์จากกลุ่มศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ประกอบธุรกิจด้านงานคราฟท์ ที่นำความรู้มาแบ่งปันและถ่ายทอดให้คนพิการ ทำให้ผลงานสวยงามและแปลกใหม่ แตกต่างจาก 2 รุ่นที่ผ่านมา ยกระดับจากผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และตรงใจผู้บริโภคยิ่งขึ้น จากความสำเร็จนี้ มจธ.จึงเตรียมต่อยอดขยายผลนำ “เฮ็ดดิโมเดล” ออกไปสู่ชุมชนอื่นๆที่สนใจต่อไป