xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ยลโฉม! โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หาคำตอบ “ยาชีววัตถุ” คือยาอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์






ในยุคปัจจุบันมนุษย์เราเผชิญกับความเสี่ยงกับเกิดโรคต่างๆ มากขึ้น การผลิตยาเพื่อรักษาให้ทันท่วงทีนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็น ด้วยเหตนี้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้มีกร่วมมือ จัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ” (NBF) เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตชีววัตถุและวัคซีน ให้ประเทศไทยได้มียาที่มีคุณภาพ
ที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ ไม่ต้องรอการนำเข้าจากต่างประเทศ


ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ นักวิจัย โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มจธ.กล่าวว่า โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ หรือ National Biopharmaceutical Facility (NBF) สร้างขึ้นเพื่อเป็นหน่วยเชื่อมต่องานของนักวิจัยกับการทดสอบยาชีววัตถุและวัคซีนในขั้น pre-clinic และ clinical phase I, II โดย NBF มีหน่วยงานที่ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนากระบวนการผลิตระดับเล็ก (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ลิตร) ระดับ pilot (5 - 30 ลิตร) สำหรับทั้งกระบวนการต้นน้ำ (การหมัก/เลี้ยงเซลล์) และปลายน้ำ (การทำให้สารบริสุทธิ์) ไปจนถึงการผลิตในโรงงานต้นแบบที่มีกำลังการผลิตสูงสุดคือ 2,000 ลิตร รวมถึง NBF ยังมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ชีววัตถุและวัคซีน ที่พร้อมรองรับการวิเคราะห์ตั้งแต่คุณลักษณะเบื้องต้น ไปจนถึงระดับที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงและเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การวิเคราะห์ลำดับขั้นของสารพันธุกรรม และโปรตีน เป็นต้น

โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติจึงเป็นห้องแล็บเพื่อการวิจัยต่อยอดขั้นสูงจาก Lab-scale สู่ Pilot-scale
สำหรับงานเชิงพาณิชย์ พร้อมมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของประเทศ


ในด้าน ดร.วรินธร สงคสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ
ไบโอเทค สวทช.
กล่าวว่า การจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตชีววัตถุและสารมูลค่าสูงของประเทศ
ด้วยเล็งเห็นถึงคอขวดของการเชื่อมต่องานวิจัยด้านยาชีววัตถุ (Biopharmaceuticals)
ซึ่งเป็นยาที่ผลิตโดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพสู่การทดลองในมนุษย์และเชิงพาณิชย์


“ไบโอเทคมีการวิจัยและพัฒนาผลิตยาชีววัตถุมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตชีววัตถุและวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ ได้หลายแพลตฟอร์มแล้ว เช่น แพลตฟอร์มของ monoclonal antibody ที่เป็นกลุ่มชีววัตถุที่ใช้เป็นยาต้านมะเร็ง, แพลตฟอร์ม plasmid DNA และแพลตฟอร์มกลุ่มโปรตีนเพื่อการรักษาโรค เช่น PCV2d ซึ่งเป็นวัคซีนความร่วมมือของไทยโดยไบโอเทค มจธ. และพันธมิตรสหราชอาณาจักรภายใต้ความร่วมมือโครงการ GCRFรวมถึงการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ BPCL ที่มีการให้บริการวิเคราะห์โปรตีนและสารพันธุกรรม นอกจากนี้ ไบโอเทคและพันธมิตรเอกชนยังได้มีความร่วมมือกับ NBF ในการผลิตวัคซีนสำหรับหมูในโรคอื่นที่เป็นการระบาดในประเทศไทย ได้แก่ PEDV และ PRRS โดยปัจจุบันมีการผลิตธนาคารเซลล์ที่ใช้เพาะเลี้ยงไวรัส ณ โรงงานต้นแบบนี้เรียบร้อยแล้ว” 


โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ จึงถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อการวิจัยต่อยอดเพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ของประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น