xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ดีอีลงพื้นที่หนองคาย ชูศูนย์ดิจิทัลชุมชนและโดรนวิถีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนองคาย - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมลงพื้นที่หนองคายชูศูนย์ดิจิทัลชุมชน และโดรนวิถีใหม่หนองคาย ต้นแบบพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล


เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (3 ธ.ค.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี พร้อมด้วยนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ร่วมการลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานีระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2566 รมว.ดีอี และคณะได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย 2 โครงการ

ประกอบด้วย โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนอย่างแท้จริง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์กิจกรรม เสริมทักษะดิจิทัล และส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นออนไลน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคมดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงลดการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของประชาชนทุกคนในชุมชนให้มีความสามารถด้านดิจิทัลอย่างทั่วถึง

สำหรับการดำเนินงานโครงการ ได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับทุกคนในชุมชน โดยได้จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เช่น วัด มัสยิด โรงเรียน สถานที่ราชการในท้องถิ่น และชุมชนที่เหมาะสม กระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 500 แห่ง และในปี 2566 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพิ่มเติมอีก 1,722 แห่ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,222 แห่งทั่วประเทศ


“ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก” จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะความรู้ตลอดชีวิต รวมถึงเป็นพื้นฐานในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการประกอบอาชีพ โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ได้เป็นพื้นที่ของการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรดิจิทัล การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนให้แก่เด็กปฐมวัย รวมไปถึงใช้เป็นสถานที่ในการจัดประชุมและวางแผนงานต่างๆ ในระดับชุมชน

นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพค้าขายออนไลน์ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของตำบลโพธิ์ตาก โดยมีการเปิดให้บริการถ่ายรูปสินค้าให้ประชาชนที่สนใจนำสินค้าในชุมชนไปค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com

ขณะที่ในช่วงบ่าย ได้ไปตรวจติดตาม โครงการโดรนเกษตรวิถีใหม่ ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า โครงการนี้เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร โดยตั้งเป้าสร้างศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 16 ศูนย์จาก 50 ศูนย์ทั่วประเทศ ชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานมีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 160 ชุมชน

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าผลิตบุคลากรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน อย่างไรก็ตามโครงการโดรนเกษตรวิถีใหม่ถือเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้เครื่องยนต์แรกของนโยบาย The Growth Engine of Thailand

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ เป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ดีป้า ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท โดยชุมชนได้นำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการกระบวนการผลิตข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ และเกิดการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พยากรณ์ และต่อยอดในมิติต่างๆ นอกจากนี้ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนยังได้รับถ่ายทอดทักษะความรู้ และสอบใบอนุญาตบินโดรนอย่างถูกต้อง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่า การเยี่ยมชมศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก และเยี่ยมชมผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร เป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เครื่องยนต์เครื่องที่หนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand ซึ่งกระทรวงดีอีมุ่งส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หนึ่งในกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงมาจากการขยายผลการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมในชนบทสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสามารถนำทักษะทางด้านดิจิทัลสามารถสร้างรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน”


นางสาวพรนภา คำภูแก้ว ชาวตำบลโพธิ์ตาก กล่าวว่า ตนเข้าใช้บริการในศูนย์ดิจิทัลแห่งนี้ค่อนข้างบ่อย มีอุปกรณ์ เครื่องอำนวยความสะดวกครบ ความเร็วอินเทอร์เน็ตเร็วมาก ใช้งานได้ทันใจ อุปกรณ์สภาพดี ใช้ลงขายสินค้าของชุมชนและไลฟ์สด ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์ในห้องนี้ ยืมทางศูนย์ใช้งานได้ และสะดวกมากจนเลือกมาใช้บริการที่ศูนย์แห่งนี้มากกว่าที่บ้าน

นายภูริณัฐ กองทอง กล่าวว่า ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตากแห่งนี้ช่วยให้ชาวบ้านและกลุ่มอาชีพต่างๆ ในกลุ่มตำบลโพธิ์ตากได้มาค้นหาความรู้ในโลกโซเชียล ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ เปิดตลาดหาลูกค้า เข้าเว็บไซต์ขายของ นักเรียน เยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตหาความรู้ได้เป็นอย่างดี

ด้านนายโชคชัย ผดุงเวียง เกษตรกรผู้ใช้โดรนเพื่อการเกษตร กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีการเกษตร อย่างเช่นโดรนทางการเกษตรมาช่วยทำการเกษตร นับว่าดีต่อเกษตรกรในหลายด้าน ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานคน ผลผลิตได้มาตรฐาน แรงงานคนไม่ทั่วถึงเหมือนโดรน โดรนจะพ่นสารต่างๆ เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืชได้ดี พื้นที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดรนจัดการได้ 98 เปอร์เซ็นต์ หากใช้คนจะได้แค่ 80 เปอร์เซ็นต์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนได้มาก รัฐสนับสนุน 60 เกษตรกรช่วยเติมอีก 40 อยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ให้ใช้โดรนอย่างมีประสิทธิภาพ ราคาอุปกรณ์เกษตรกรจับต้องได้


กำลังโหลดความคิดเห็น