xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.รุกตรวจสอบนมโรงเรียนสหกรณ์โคนมขอนแก่น ย้ำคุณภาพได้มาตรฐานแม้เกษตรกรแบกต้นทุนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ป.ป.ช.ขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจคุณภาพนมโรงเรียนที่สหกรณ์โคนมขอนแก่น หลังเกิดปัญหาเกษตรกรโคนมขาดทุน เลิกเลี้ยงวัวเพิ่มขึ้น ส่งผลปริมาณน้ำนมดิบทั่วประเทศลด ทั้งมีข้อร้องเรียนนำนมผงมาผสมทำนมโรงเรียนเพื่อลดต้นทุน ล่าสุดผลตรวจคุณภาพน้ำนมสหกรณ์โคนมขอนแก่น ได้ตามมาตรฐาน

นายธีรัตน์ บางเพ็ชร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดขอนแก่น
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายธีรัตน์ บางเพ็ชร รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดขอนแก่น พร้อมเจ้าพนักงานกลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.ขอนแก่น ติดตามตรวจคุณภาพนมโรงเรียนแบบเชิงรุก หลังเกิดวิกฤติเกษตรกรขาดทุน เลิกเลี้ยงวัวเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศลดลง อีกทั้งมีข้อร้องเรียนในพื้นที่อื่นว่า อาจมีการนำนมผงมาละลายผสมทำนมโรงเรียนเพื่อลดต้นทุน และติดตามกรณีสื่อโซเชียล กังวล “การปลอมปนนมผง” ในพื้นที่อื่น

นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันสหกรณ์โคนมและสมาชิกที่เป็นเกษตรผู้เลี้ยงโคนมได้ประสบปัญหาโรคลัมปีสกินในโคนม และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผลผลิตน้ำนมดิบลดลง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น ต้นทุนผลิตสูงแต่รายได้ลดลง ทำให้สมาชิกเลิกเลี้ยงโคนมกันมากขึ้น

ส่วนสหกรณ์ก็ต้องแบกรับหนี้สิน หากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ อาชีพเลี้ยงโคนมอาจจะสูญหายไปในที่สุด ถึงแม้จะประสบกับปัญหาแต่ก็เน้นควบคุมคุณภาพการผลิตทุกขั้นตอน ไม่นำนมผงมาปลอมปนเด็ดขาด และได้นำระบบดาต้าล็อกเกอร์ มาใช้ส่งนมโรงเรียน เพราะถ้าหากมาตรฐานและคุณภาพของนมลดลง จะส่งผลกระทบต่อสหกรณ์โคนมขอนแก่น จะถูกลดโควต้าจำหน่ายนมโรงเรียน และสหกรณ์ยังอยากได้สิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนเพิ่มขึ้น เพราะรายได้สหกรณ์ส่วนหนึ่งจะถูกนำมาบริหารจัดการเพื่อดูแลสมาชิกซึ่งเป็นเกษตรกร

การตรวจสอบครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนรับน้ำนมดิบจากเกษตรกร เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบด้านกายภาพและเคมี ตรวจจำนวนจุลินทรีย์ และแบคทีเรียที่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน ตรวจค่าไขมัน เพื่อคัดกรองนมที่มีคุณภาพ หากพบปัญหาจะต้องคัดนมทิ้งและแจ้งเกษตรกรเพื่อแก้ไข นมที่ตรวจผ่านแล้วจะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ หรือนมถุง นมโรงเรียนที่เด็กดื่ม

เจ้าหน้าที่สหกรณ์โคนมขอนแก่น ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ว่า ในขั้นตอนนี้ สามารถตรวจสอบได้ว่าไม่มีการนำนมผงมาละลายน้ำผสมนมโรงเรียน เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดเล็ก หากทำต้องใช้อุปกรณ์และบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ทางสหกรณ์ไม่สามารถทำได้ เพราะถูกตรวจสอบเข้มงวดจากหน่วยงานภาครัฐ นมโรงเรียนจะถูกเก็บห้องอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส

ส่วนขั้นตอนการขนส่งนม อุณภูมิในรถห้องเย็นต้องอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส เมื่อนำนมไปส่งที่โรงเรียน ครูซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับจะต้องทำหน้าที่ตามระเบียบ และวัดอุณภูมินมต้องไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส ก่อนส่งให้เด็กนักเรียนได้ดื่ม ตามเจตนารมณ์ของโครงการนมโรงเรียน ที่เด็กต้องได้ดื่มนมมีคุณภาพ ส่วนเกษตรกรโคนมต้องมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ




ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่โรงเรียนสวนสนุก เพื่อติดตามการจัดส่งและแจกนมโรงเรียนทางโรงเรียนนำเทอร์โมมิเตอร์ มาวัดอุณหภูมิในถุงนมก่อนให้นักเรียนดื่ม แต่บริเวณถังเก็บนมในโรงเรียนมีพื้นเปียกน้ำ ชื้นแฉะ สาเหตุมาจากน้ำหยดจากน้ำแข็งในถังน้ำแช่นม ทาง ป.ป.ช. จังหวัดขอนแก่น แนะนำให้ตรวจสอบสภาพถังนม ให้มีสภาพสมบูรณ์ไม่ชำรุด ดูแลสถานที่เก็บนมต้องสะอาดและแห้ง เก็บในที่ร่ม ไม่มีแสงแดด และตรวจสอบความถูกต้องในการบรรจุนมลงถัง

ด้านนายธีรัตน์ บางเพ็ชร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ทาง ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดสรรโคต้านมโรงเรียน ที่อาจไม่โปร่งใส มีการล็อกสเปก จนนำไปสู่การเสนอแนวทางให้ปรับเกณฑ์จัดสรรสิทธิ์แบ่งเป็นแต่ละภูมิภาค ล่าสุดต้องเฝ้าระวังเอกชนนำนมผงมาผสมผลิตนมโรงเรียน เพื่อลดต้นทุนผลิต เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบลดลง และถือเป็นการเอาเปรียบเอกชนรายอื่น หรือสหกรณ์โคนมที่รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรมาผลิตนมโรงเรียนคุณภาพ ควรได้รับสิทธิการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น

สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด มีกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานและมีคุณภาพ จึงขอชื่นชม และให้คงรักษามาตรฐานการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน) ให้มีมาตรฐานเกิดประโยชน์กับเด็กนักเรียนมากที่สุด


สำหรับสถานการณ์ล่าสุด เกษตรกรโคนมในประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ประมาณ 3 พันตันต่อวัน กว่า 2 พันตันถูกจัดซื้อไปผลิตนมโรงเรียน ที่เหลือคือนมพาณิชย์และผลิตภัณฑ์จากนม กลางปีที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวน้ำนมดิบขาดตลาด เพราะเกษตรกรเลิกเลี้ยงจำนวนมาก ล่าสุดสหกรณ์โคนมหลายแห่ง ต้องแบกรับปัญหาหนี้สินจากเกษตรกรที่ขาดทุนต้องปิดฟาร์ม ที่ผ่านมาต้องเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบช่วยเหลือเกษตรกร จึงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคาน้ำนมดิบ และราคานมโรงเรียนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งขอให้การจัดสรรโควตานมโรงเรียนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมกับกลุ่มสหกรณ์โคนม


กำลังโหลดความคิดเห็น