เชียงราย - คมนาคมกางแผนปลุกท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 2 หลังสร้างเสร็จปี 54 แต่ผลประกอบการต่ำ แถมล่าสุดยังขาดทุน จ่อดันส่งออกโค/กระบือ รวมถึงพืชผัก-ผลไม้ ตรงเข้าจีน พร้อมหาทางประกาศเขตปลอดอากรริมน้ำโขง
วันนี้ (13 พ.ย. 66) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผอ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายสุรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.คมนาคม อธิบดีกรมเจ้าท่า นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา ฯลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ต.สบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว
โอกาสนี้ ได้มีการหารือตัวแทนฝ่ายปกครอง จ.เชียงราย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.ด่านศุลกากรเชียงแสน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการพัฒนาท่าเรือ เปิดช่องทางส่งออกสัตว์มีชีวิต โค กระบือ ฯลฯ
นายเกรียงไกรกล่าวว่า หลังการประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย กทท.จะได้เร่งพัฒนาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ด่านกักสัตว์เชียงราย ฯลฯ ในการใช้ท่าเรือเชียงแสนเพื่อขนถ่ายโค กระบือให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศและข้อบังคับ รวมถึงป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนด่านกักสัตว์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็จะได้หารือถึงขั้นตอนการส่งออกเพื่อให้มีความเหมาะสม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เป็นไปด้วยดี โดยเมื่อ 3-4 เดือนก่อนผู้ว่าการเมืองจิ่งหง มณฑลยูนนาน ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนข้อหารือกับ จ.เชียงราย และท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เพื่อผลักดันให้มีการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ให้มากขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กทท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องระเบียบกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 สามารถขนส่งสัตว์มีชีวิตได้สำเร็จ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความคืบหน้าด้วย
สำหรับท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 สร้างเสร็จเมื่อปี 2554 มีเนื้อที่ 387 ไร่ มีระบบอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า สามารถรองรับเรือขนาด 500 ตันได้พร้อมกัน 10 ลำ แต่ผลประกอบการค่อนข้างต่ำนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ขณะที่ปี 2566 มีรายได้ 16.42 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายถึง 24.03 ล้านบาท
ปัญหาและอุปสรรคคือตั้งอยู่ในระยะทางที่ห่างไกลกว่าท่าเรือเอกชนทำให้ต้นทุนสูงกว่า และไทยกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญไม่มีพิธีสารในการขนส่งสินค้าผัก-ผลไม้ทางแม่น้ำโขง และไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหมือน สปป.ลาว และเมียนมา ที่มีดินแดนติดกับจีน
ดังนั้น กทท.จึงมีแผนพัฒนาหลายโครงการ เช่น โครงการเขตปลอดอากร โครงการความร่วมมือกับท่าเรือกวนเหล่ยของจีน โครงการสัตว์ส่งออกมีชีวิตดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2569-2570 โดยจะใช้พื้นที่แนวลาดฝั่งทิศใต้ของท่าเรือหลังจากที่ในปัจจุบันมีการใช้ท่าน้ำบริเวณด่านกักสัตว์เชียงแสนเป็นสถานที่ขนถ่าย
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าการพัฒนาการค้าผ่านแม่น้ำโขงควรทำศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเขตปลอดอากร เพื่อรองรับการค้ากับ สปป.ลาว เมียนมา และมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน และมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 160 ล้านคน ส่วนการส่งสินค้าไปจีนสามารถใช้กรอบความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องเชียงราย-ยูนนาน หรือกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งในระดับรัฐบาลสามารถหารือได้ นอกจากนี้ หากมีคลังน้ำมันปลอดอากรสำหรับเรือที่จะเดินทางออกไปต่างประเทศก็จะทำให้การขนส่งทางเรือแม่น้ำโขงคึกคักขึ้นเพราะใช้ต้นทุนต่ำที่สุด