xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติ MOU อก.- พณ.รับงบฯ รวม 657,934 ดอลลาร์ กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.ไฟเขียว MOU ของ อก. และ พณ. รับงบฯ รวม 657,934 ดอลลาร์สหรัฐ (23.72 ล้านบาท) ของ กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

วันนี้ (31ต.ค.) นางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. วันนี้ (31 ตุลาคม 2566) เห็นชอบและอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566  2 ฉบับ คือ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
.
นางรัดเกล้า กล่าวว่า กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือต่างๆ ของประเทศสมาชิก (ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน) ในสาขาหลักของกรอบความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ 1) ความเชื่อมโยง 2) ศักยภาพในการผลิต 3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4) ทรัพยากรน้ำ และ 5) การเกษตรและการขจัดความยากจน ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานของไทยหลายหน่วยงานได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ
.
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการอนุมัติ “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจริย” ซึ่งประกอบด้วย ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย โดยกระทรางอุตสาหกรรมรับอนุมัติจากฝ่ายจีน ได้รับกองทุนภายในวงเงินงบประมาณ 203,507 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 1.41 ล้านหยวน หรือประมาณ 7.86 ล้านบาท) ในขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ได้เคยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2561 และ 2563 รวมวงเงินทั้งสิ้น 2,154,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 78.60 ล้านบาท) ในครั้งนี้ “โครงการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้าง” ของกระทรวงพาณิชย์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 454,427 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 3.14 ล้านหยวน หรือ​ ประมาณ 15.86 ล้านบาท)
.
โดยทั้ง 2 MOU มีรายเอียดเหมือนกันว่า อนุมัติให้ปลัดกระทรวง​ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย​ เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจทั้ง 2 ฉบับ และ ฝ่ายจีนจะจ่ายเงินงบประมาณเต็มจำนวนให้กับฝ่ายไทยภายใน 20 วันทำการ หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ และฝ่ายไทยโดย อก. (สถาบันยานยนต์) จะแจ้งการได้รับการจ่ายเงินอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือทางการทูตหรือในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับการจ่ายเงิน ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้งสองฝ่ายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นเวลาอีก 5 ปี ส่วนการสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่กระทบต่อการดำเนินกิจกรรม/โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
.
นางรัดเกล้า กล่าวว่า “การดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยฯ จะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนุภูมิภาค และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงอีกด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น