xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าร่วมแสดงความเห็นพัฒนาขนส่งทางน้ำเวทีประชุมอาเซียน "MTWG ครั้งที่ 45" ที่เวียดนาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่าประชุมคณะทำงานอาเซียนว่าด้วยการขนส่งทางน้ำ (MTWG) ครั้งที่ 45 ณ เมืองโฮจิมินห์ เวียดนาม 17-19 ต.ค. 66 ร่วมหาแนวทางพัฒนาการขนส่งทางทะเลพร้อมนำเสนอข้อมูลท่าเรือกรุงเทพปลอดอากร และแลนด์บริดจ์

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปลอดภัย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม สำนักนโยบายและแผนการขนส่งการจราจร และกรมอาเซียน เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานอาเซียนว่าด้วยการขนส่งทางน้ำ ครั้งที่ 45 (45th ASEAN Maritime Transport Working Group Meeting: MTWG) ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2566 ณ เมืองโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

การประชุม MTWG เป็นเวทีความร่วมมือและประสานงานด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศสมาชิกอาเซียน (บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ผู้แทนองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางน้ำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน (Kuala Lumpur Transport Strategic Plan 2016 - 2025: KLTSP) รวมถึงการดำเนินการและการทำงานร่วมกันตามข้อริเริ่มใหม่ในด้านการขนส่งทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการป้องกันสิ่งแวดล้อมและมหาสมุทรที่สะอาดมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงอาเซียน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียน


สำหรับผลการประชุมฯ ดังกล่าว ที่ประชุมฯ ได้หารือและผลักดันความร่วมมือด้านการขนส่งทางน้ำในหลายประเด็น โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น การดำเนินการเพื่อผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการขนส่งทางทะเล โครงการตลาดขนส่งทางทะเลร่วมอาเซียน และการพัฒนาการรักษาความปลอดภัยท่าเรือในประเทศสมาชิก


โดยผู้แทนประเทศไทยได้นำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดในหลายประเด็นเช่น การพัฒนาเขตปลอดอากรท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Free Zone) การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) การพัฒนาความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Safety, Health and Environment: SHE) ของท่าเรือในประเทศไทย และการพัฒนาแนวทางท่าเรืออัจฉริยะ (Guidelines on Smart Ports) เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานในการดำเนินงานของท่าเรือในภูมิภาคอาเซียนต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น