ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - น่าห่วง “ฝีดาษวานร” ระบาดเพิ่มต่อเนื่องจากกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น ไปสู่กลุ่มอายุน้อยลง สคร. 9 โคราชเผย 5 เดือน พบ 4 จังหวัดอีสานล่างป่วยแล้ว 6 ราย ย้ำเตือน ปชช.สังเกตรอยโรคคู่นอนและงดมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยกับคนแปลกหน้า
วันนี้ (26 ต.ค.) นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค ได้รายงานสถานการณ์ระบาดโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ว่ายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565-22 ตุลาคม 2566 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยแล้ว 535 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องและติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ซึ่งเป็นผู้ป่วยสัญชาติไทย 481 ราย ชาวต่างชาติ 50 ราย และไม่ระบุสัญชาติอีก 4 ราย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 313 ราย รองลงมาคือ จ.ชลบุรี 57 ราย, จ.นนทบุรี 30 ราย และ จ.ภูเก็ต 26 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือ 30-39 ปี รองลงมาคือ 20-29 ปี และกลุ่มอายุ 40-49 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย
ขณะที่เขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565-22 ตุลาคม 2566 มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรแล้ว 6 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 2 ราย, จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2 ราย, จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1 ราย และ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 1 ราย
จากรายงานผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่ทราบประวัติ หรือมีคู่นอนมากกว่า 1 คน โดยระยะแรกของการแพร่เชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทย กลุ่มเสี่ยงจะเป็นชายวัยทำงาน แต่ในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เริ่มพบเยาวชนติดเชื้อฝีดาษวานรเพิ่มมากถึง 16 ราย และเวลานี้สถานการณ์ผู้ป่วยในไทยเริ่มแพร่ระบาดจากกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น ไปสู่กลุ่มที่อายุน้อยลง ซึ่งได้แก่ เยาวชนวัยเรียนแล้ว
ดังนั้น ต้องขอย้ำเตือนไปยังเยาวชนและกลุ่มชายรักชาย ให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น การสัมผัสใกล้ชิดเนื้อแนบเนื้อหรือกอดจูบกับผู้ที่ไม่รู้จัก และให้เยาวชนได้ตระหนักว่าจะต้องป้องกันตัว มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค
รวมทั้งให้ประชาชนได้สังเกตรอยโรค อาการแสดง และผิวหนังตามร่างกายของคู่นอนด้วยว่ามีผื่นแบนหรือนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองและตกสะเก็ดหรือไม่ โดยมักจะพบตามอวัยวะเพศ รอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า ลำตัว ศีรษะ ซึ่งก่อนจะเกิดอาการมักมีไข้ร่วมกับอาการอื่น เช่น มีต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
หากสงสัยว่าติดเชื้อฝีดาษวานร หรือมีประวัติเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมกับแจ้งข้อมูลความเสี่ยงแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค รวมทั้งให้แยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือสถานที่ทำงาน ไม่รับประทาน ดื่มน้ำด้วยภาชนะร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาช่วงที่ป่วย ทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องนอนเครื่องใช้แยก ใช้สุขาแยก หรือทำความสะอาดด้วยการเช็ดด้วยน้ำยาทำลายเชื้อกลุ่มสารซักฟอก เช่น ไฮโปคลอไรต์ น้ำสบู่ เป็นต้น หากสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422